รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณากฎระเบียบข้อบังคับใช้บรรจุภัณฑ์ขวดน้ำดื่มแบบไม่มีฉลาก โดยใช้การสแกน QR บนขวดแทนการติดฉลากแบบเดิม และกำหนดให้แสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2569 ทั้งนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแบบเดิมก่อนการประกาศบังคับใช้ก็ยังสามารถจำหน่ายได้
การริเริ่มกฎระเบียบดังกล่าวสืบเนื่องจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ (MoE) ได้ประกาศใช้นโยบายด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด อาทิ การห้ามใช้พลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิล และอนุมัติการใช้พลาสติก polyethylene terephthalate (PET) เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นวัสดุในการผลิตภาชนะอาหารแบบใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการผลักดันเป้าหมายที่จะลดการผลิตขยะพลาสติกลง 50% และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลจาก 34% เป็น 70% ภายในปี 2573 เพื่อความยั่งยืนของเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ยังดำเนินการเกี่ยวกับข้อกำหนดการติดฉลากอาหารแบบใหม่ โดยเปลี่ยนข้อความที่แสดงบนผลิตภัณฑ์จาก “Sell by” (จำหน่ายก่อน หมายถึง ระยะเวลาสูงสุดที่อนุญาตให้จำหน่ายในร้านค้าได้ไม่เกินวันที่ระบุ) เป็น “use by” (บริโภคก่อน หมายถึง ระยะเวลาสำหรับการบริโภคที่ปลอดภัยในสภาวะการเก็บรักษา) เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคและลดขยะอาหาร ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการผลักดันเพื่อความยั่งยืนของเกาหลีใต้ ในขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (MFDS) เผยว่า ได้นำระบบดังกล่าวมาทดลองใช้เพื่อทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และแนวทางในการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์ 50% ของยอดขายอาหารในประเทศมีการระบุข้อความที่แสดงวันหมดอายุแบบดังกล่าวมาใช้แล้ว
ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถส่งความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎระเบียบนี้ ได้ที่อีเมลล์: kyeongm@korea.kr
ที่มา : Food Navigator-asia.com สรุปโดย : มกอช.