TH EN
A A A

BPJPH อินโดนีเซียประกาศปรับปรุงกระบวนการลงทะเบียนใบรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ

4 March 2567   

                    เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 หน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซีย (The Halal Product Assurance Agency: BPJPH) ได้ประกาศใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 90 ปี พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับกระบวนการลงทะเบียนใบรับรองอาลาลจากต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนผู้ส่งออกดำเนินการลงทะเบียนใบรับรองอาลาลให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในอินโดนีเซีย
กระบวนการโดยรวมตั้งแต่ยื่นจนถึงออกใบรับรองฮาลาลมีดังนี้:
                    1. การจดทะเบียน ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องยื่นคำขอลงทะเบียนใหม่หรือต่ออายุเป็นภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ Halal information system (SIHALAL) ที่ https://ptsp.halal.go.id และอัพโหลดเอกสารที่จำเป็น ดังนี้
                    - หนังสือคำร้องขอขึ้นทะเบียนใบรับรองฮาลาลต่างประเทศ
                    - หนังสือมอบอำนาจ (Letter of Authorization) จากบริษัทผู้ส่งออกในประเทศต้นทาง ที่อนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนใบรับรองฮาลาลต่างประเทศในนามของเจ้าของธุรกิจ
                    - หมายเลขทะเบียนธุรกิจการค้า (Business Registration Number: NIB) ของผู้นำเข้าและ/หรือตัวแทนผู้ส่งออกในอินโดนีเซีย
                    - สำเนาใบรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ผู้แทนของอินโดนีเซียในต่างประเทศ 
                    - สำเนาข้อตกลงการยอมรับร่วมกัน (Mutual recognition arrangement: MRA) ระหว่างหน่วยงานรับรองฮาลาลต่างประเทศที่ออกใบรับรองฮาลาลและ BPJPH
                    - หมายเลขของรายการผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้าอินโดนีเซียตามรหัสระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System Code: HS) 
                    - จดหมายยืนยันว่าเอกสารที่ส่งมานั้นถูกต้อง
                    2. การตรวจสอบ BPJPH จะตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องของเอกสาร หากเอกสารไม่ครบถ้วน ผู้สมัครต้องดำเนินการส่งเอกสารเหล่านี้ใหม่ภายใน 5 วันทำการ มิฉะนั้นระบบจะยกเลิกการสมัครโดยอัตโนมัติ
                    3. การชำระเงิน BPJPH จะออกใบแจ้งหนี้ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 800,000 IDR ตามระเบียบ BPJPH No.141/2021 และผู้สมัครควรชำระภายใน 7 วันทำการ มิฉะนั้นระบบจะยกเลิกการสมัครโดยอัตโนมัติ 
                    4. การออกใบรับรองฮาลาล BPJPH จะออกหมายเลขทะเบียนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้ใบรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ โดยมีอายุเท่ากับใบรับรองฮาลาลที่หน่วยรับรองฮาลาลของต่างประเทศออกให้ ทั้งนี้ เนื่องจากหมายเลขทะเบียนเชื่อมโยงกับใบรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์รายอื่นจึงสามารถใช้หมายเลขเดียวกันนี้ได้ หากได้รับอนุญาตจากเจ้าของหมายเลขทะเบียนเดิม นอกจากนี้ เลขทะเบียนเดียวกันยังใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นประเภทเดียวกันได้ โดยศึกษารายละเอียดประเภทของผลิตภัณฑ์ได้จากกฎกระทรวงการศาสนา NO. 748/2021 
                    สามารถศึกษารายละเอียดของ Decree NO. 90 of 2023 เพิ่มเติมได้ที่: https://usda-indonesia.org/wp-content/uploads/2024/01/BPJPH-Decree-90-2023-Certificate-Registration.pdf

 

ที่มา : GAIN สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?