คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Regulation (EU) 2023/2842 ว่าด้วยการปรับปรุงระบบควบคุมการทำประมง (fisheries control) ใหม่ ใน EU Official Journal L series ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบควบคุมการทำประมงของสหภาพยุโรปฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 (Council Regulation (EC) No 1224/2009) ให้มีความทันสมัยและง่ายต่อการควบคุม โดยคณะกรรมาธิการยุโรปใช้เวลากว่า 5 ปีในการปรับปรุงระบบควบคุมการทำประมง (fisheries control) ฉบับใหม่นี้ ให้เข้าสู่ระบบดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ตาข่ายจับปลาไปจนถึงจานผู้บริโภค (From Net to the Plate) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เพื่อให้การทำประมงในสหภาพยุโรปสอดคล้องกับนโยบายประมงร่วม (Common Fisheries Policy: CFP) และเสริมสร้างศักยภาพในการต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)
2. การปรับเปลี่ยนหลักครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1) ใบอนุญาตทำการประมง (fishing license) กำหนดให้เรือจับปลา (catching vessel) ของสหภาพยุโรป จะสามารถทำประมงได้ (แสวงหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากทรัพยากรชีวภาพทางทะเล) ก็ต่อเมื่อมีใบอนุญาตทำการประมงที่ถูกต้องเท่านั้น
2.2) เรือจับปลาของสหภาพยุโรปจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมเฉพาะทางประมงได้ก็ต่อเมื่อมีการระบุกิจกรรมดังกล่าวไว้ในใบอนุญาตทำการประมง (กิจกรรม และเขตการทำประมงที่ได้รับอนุญาต)
2.3) ประเทศสมาชิกสามารถยกเว้นให้เรือจับปลาที่มีความยาวโดยรวมน้อยกว่า 10 เมตร ไม่ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงได้ หากเรือดังกล่าวประกอบกิจกรรมจับปลาในเขตน่านน้ำอาณาเขตของตน หรือ/และในเขตน่านน้ำอาณาเขตของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ซึ่งได้ยกเว้นเรือที่ชักธงของประเทศตนในลักษณะเดียวกัน
2.4) เรือประมง (fishing vessel) ของสหภาพยุโรป นอกเหนือจากเรือจับปลา (catching vessels) จะสามารถทำประมงได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประเทศสมาชิกที่เรือของตนชักธงเท่านั้น
2.5) กำหนดให้เรือทุกลำต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System: VMS) เพื่อให้สามารถติดตามเรือประมงได้ทุกขณะ (ผ่านลิงค์ดาวเทียม เครือข่ายมือถือ หรือเทคโนโลยีใด ๆ ที่มีความเท่าเทียม) อย่างไรก็ดี ละเว้นให้แก่เรือที่มีความยาวโดยรวมน้อยกว่า 12 เมตรไม่ต้องติดตั้งระบบติดตาม VMS ดังกล่าวบนเรือหากต้องมีเครื่อง/อุปกรณ์ติดตามบนเรือเพื่อให้สามารถเฝ้าระวังตำแหน่งของเรือในทะเลได้ในทุกขณะ
2.6) การกำหนดให้ศูนย์ติดตามการทำประมง (fisheries monitoring centres) จะต้องสามารถติดตามเรือทุกลำได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถดำเนินการ/บังคับใช้มาตรการใด ๆ ได้ในทันที
2.7) กำหนดให้เรือประมงที่มีความยาวโดยรวมมากกว่า 15 เมตรต้องมีการติดตั้งระบบระบุอัตลักษณ์เรืออัตโนมัติ (Automatic Identification Systems: AIS)
2.8) กำหนดให้เรือประมงที่มีความยาวโดยรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 18 เมตรที่ชักธงประเทศสมาชิก EU ที่มีความเสี่ยงสูงในการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการเทียบท่า (landing) ต้องมีการติดตั้งระบบตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ระยะไกล (Remote Electronic Monitoring: REM) รวมถึงติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)
2.9) เรือจับปลา (catching vessel) ทุกลำจะต้องเก็บสมุดบันทึกอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการจับปลาทั้งหมด (electronic fishing logbook)
2.10) การจัดทำบันทึกของสหภาพยุโรป (Union register) เพื่อรวบรวมการละเมิดจากศูนย์รวบรวมข้อมูลของประเทศสมาชิก
2.11) กำหนดให้เรือที่ชักธงประเทศสมาชิก EU ที่จะเทียบท่าในประเทศที่สาม จะต้องขออนุญาตหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนที่เรือจะเทียบท่า
2.12) กำหนดให้กัปตันเรือของประเทศสมาชิกต้องทำการแจ้งการขนถ่ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic transshipment declaration) ภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังจากเสร็จสิ้นการขนถ่ายแล้ว
2.13) กำหนดให้เรือต้องแจ้งการเทียบท่า (landing declaration) ระบุวัน-เวลาที่เทียบท่าและออกจากท่า
2.14) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องรายงานผลการจับปลา (catches) และความพยายามในการทำประมง (fishing effort) อาทิ การรายงานจำนวนกิจกรรมการจับปลาทั้งหมดในพื้นที่จับปลาในช่วงเวลาที่กำหนด ประเภทอุปกรณ์เฉพาะ จำนวนเรือ จำนวนเบ็ดที่ตั้ง และจำนวนวันหรือคืนในการจับปลา เป็นต้น
2.15) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้งข้อมูลเมื่อใกล้หมดโอกาสในการจับปลา (exhaustion of fishing opportunities) เมื่อโควต้าจับปลาอยู่ที่ระดับร้อยละ 80 ของโควต้าที่ได้รับอนุญาต
2.16) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องตรวจสอบควบคุมความสามารถในการทำประมง (control of fishing capacity) ต้องไม่สูงกว่าระดับขีดความสามารถสูงสุดสำหรับประเทศสมาชิกนั้น ๆ ที่กำหนดโดยมาตรา 22 Regulation (EU) No 1380/2013 อาทิ การตรวจสอบกำลังเครื่องยนต์ของเรือจับปลา การตรวจสอบน้ำหนักเรือของเรือจับปลา และการตรวจสอบชนิด จำนวน และลักษณะของเกียร์จับปลา (fishing gear)
2.17) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องตรวจสอบกำลังเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง (continuous monitoring of engine power) โดยการตรวจสอบการติดตั้งระบบขับเคลื่อนภายในเรือที่มีกำลังเครื่องยนต์ที่ได้รับการรับรองเกิน 221 กิโลวัตต์ และใช้เกียร์พ่วงตามมาตรา 6 (12) Regulation (EU) 2019/1241 ซึ่งอาจเข้าข่ายว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายการประมงร่วม โดยเรือดังกล่าวต้องติดตั้งระบบวัดและมีการบันทึกกำลังเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง
2.18) การตรวจสอบกำลังเครื่องยนต์และน้ำหนักของเรือจับปลา
2.19) การแยกการเก็บกักสัตว์น้ำที่จับได้บริเวณหน้าดิน (demersal species) หรือพื้นทะเลที่อยู่ภายใต้แผนหลายปี
2.20) การควบคุมการทำประมงในเขตหวงห้าม
2.21) การควบคุมการตกปลาโดยไม่ใช้เรือ (fishing without a vessel) และการตกปลาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (recreational fisheries) ของประเทศสมาชิกต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดนโยบายการประมงร่วม รวมถึงกำหนดให้บันทึกปริมาณและชนิดของปลาที่จับได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
2.22) การควบคุมในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ หลักการควบคุมการตลาด มาตรฐานการตลาดทั่วไป การตรวจสอบย้อนกลับ การชั่งน้ำหนักสินค้าประมงตามสายพันธุ์ (species) ณ ท่าเทียบเรือ การจัดทำ/จัดส่งข้อมูลการจำหน่ายสินค้าประมงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การแจ้งการเข้าครอบครองสินค้าต่อ (take-over declaration) การขนส่งสินค้าประมงต้องมีเอกสารการขนส่งประกอบโดยระบุสินค้าประมงและน้ำหนักที่ขนส่ง
2.23) การดำเนินการตรวจสอบโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องดำเนินการตรวจสอบในลักษณะไม่เลือกปฏิบัติ ณ ในทะเล ตามแนวชายฝั่ง ท่าเรือ/ท่าเทียบเรือ ระหว่างการขนส่ง สถานที่แปรรูป และตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าประมง และรวบรวมรายงานผลการตรวจสอบและผลการเฝ้าระวังในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่คณะกรรมาธิการยุโรปและ EFCA สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
2.24) การดำเนินการในกรณีตรวจพบการละเมิดในระหว่างการตรวจสอบ บทลงโทษที่สมส่วนกับความร้ายแรงของการละเมิดและมีความรุนแรงเพียงพอที่จะยับยั้งการละเมิดเพิ่มเติม และกีดกันผู้กระทำผิดจากผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ได้รับหรือที่คาดหวังจะได้รับจากการละเมิดดังกล่าว
2.25) มาตรการบังคับใช้ทันทีกรณีการละเมิดที่ร้ายแรง อาทิ สั่งให้ยุติการทำการประมง สั่งเปลี่ยนเส้นทางเรือประมงไปยังท่าเทียบเรือ การยึดเรือประมง การยึดยานพาหนะขนส่ง การยึดอุปกรณ์ทำการประมง การยึดสัตว์น้ำที่จับได้ หรือกำไรที่ได้รับจากการขายสัตว์น้ำที่จับได้ การจำกัดหรือห้ามการนำสินค้าประมงวางจำหน่ายในตลาด และการระงับการอนุญาตให้ทำการประมง เป็นต้น
2.26) การประสานงาน การตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูล/เอกสาร ให้กระทำผ่านระบบดิจิตัล CATCH (Digital Information Management System for Catch Certification Scheme) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป หน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกและของประเทศที่สาม ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป (เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 ไปจนถึง 10 มกราคม 2572) หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2566) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย สหภาพยุโรปกำหนดให้ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปที่นำเข้าสินค้าประมงจากประเทศที่สามต้องส่งมอบหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) ผ่านทางระบบดิจิตัล CATCH เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2569 (ค.ศ. 2026) เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี รายละเอียดของประกาศดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:L_202302842
ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 4 / สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป สรุปโดย : มกอช.