พาณิชย์ จับมือผู้ส่งออกถก ACWL เห็นชอบฟ้องดับบลิวทีโอเรียกร้องสหภาพยุโรปทบทวนเอดีอย่างเป็นธรรมหลังยกเลิก price undertaking มีผลเดือนพฤษภาคมนี้
นายพรชัย ปิ่นวิเศษ อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานกล่าวว่า ผลจากการหารือร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศและที่ปรึกษากฎหมายองค์การการค้าโลก (ACWL)ที่กรุงเจนีวา ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นว่า ไทยสามารถนำเรื่องที่สหภาพยุโรป เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)ข้าวโพดหวานของไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะที่ปรึกษา (consultation) WTO เพื่อให้สหภาพยุโรปทบทวนการเก็บภาษีเอดีให้ไทยอย่างเป็นธรรม และทาง ACWL จะเป็นผู้พิจารณาข้อมูลจากหน่วยราชการและเอกชนไทยภายในเดือนนี้
สมาคมเห็นว่าไทยควรนำเสนอต่อการพิจารณาในกระบวนการ Consultation ของ WTO หากไม่ยกเลิกเอดีก็ต้องมีกระบวนการทบทวนการเรียกเก็บเอดีให้ได้อัตราที่เหมาะสม เพราะไทยเป็นระดับผู้รับจ้างการผลิต ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อกับผู้ผลิตสหภาพยุโรป แต่การที่สหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษีเอดีและยกเลิกเงื่อนไข price undertaking ก็ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
หลังจากที่สหภาพยุโรปแจ้งยกเลิกเงื่อนไข price undertaking กับ 10 บริษัท มีผลในเดือนพฤษภาคมนี้ และขอทบทวนอัตราภาษีเอดีจากอัตราปัจจุบันคือ 3.1-12.9% โดยอ้างว่า เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยในตลาดหลายอย่าง เช่น ต้นทุนการผลิต และราคาในตลาดโลกเปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อบริษัทไทยหลายบริษัทที่ได้เจรจาเพื่อจัดทำ price undertaking หรือตกลงราคาขั้นต่ำที่เอกชนไทยสามารถส่งออกไปสหภาพยุโรปได้เพื่อแลกกับการจะไม่เรียกเก็บเอดีจากบริษัทนั้น เท่ากับว่าจะต้องเสียเวลาในการทบทวนภาษีเอดีใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าจากไทย
โดยเฉพาะทางสมาคมผู้นำเข้าผักผลไม้ของสหภาพยุโรป (FRUCOM) ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ว่าจะย้ายฐานการสั่งซื้อจากไทยไปเวียดนามและจีนแทน เนื่องจากไทยไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานกระป๋อง ซึ่งถูกสหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษี AD และการยกเลิก price undertaking ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง เพราะทั้งภาษีนำเข้าและเอดีที่ต้องชำระนั้นมีสูงถึง 28% จากภาษีนำเข้าปกติที่อยู่ในอัตรา 15% เท่านั้น
หาก FRUCOM ไม่นำเข้าข้าวโพดหวานกระป๋องจากไทยจริง ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดสหภาพยุโรปซึ่งมี 30% ขณะเดียวกันในด้านการผลิตผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาต้นทุนวัตถุดิบข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้นจาก 4 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 5.50-6.00 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้คาดว่าการส่งออกปีนี้จะไม่ถึงเป้าหมาย และหากรัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลืออย่างจริงจัง คาดว่าผู้ประกอบการ 30 โรงงานคงเหลือไม่ถึง 5 โรง