ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ (Lab-grown meat) สามารถติดฉลากโคเชอร์ (Kosher) และฮาลาล (Halal) ได้ตราบใดที่แหล่งที่มาของเซลล์นั้นเป็นไปตามหลักของศาสนา ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์ เพราะนั่นหมายความว่าผู้คนในศาสนายิวและศาสนาอิสลามจะสามารถบริโภคผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้
ปัจจุบันเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์ (cultivated meat) ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์มีปริมาณไม่มากนัก ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ก็หวังว่านักลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะอัดฉีดเงินสดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและสร้างทางเลือกการบริโภคในระดับโลก เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์ได้มาจากตัวอย่างเซลล์สัตว์ที่เลี้ยงด้วยสารอาหารผสมและเจริญเติบโตภายในภาชนะเหล็ก
ช่วยลดการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้ที่ดินและโรงฆ่าสัตว์ นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ยังหวังว่าผลิตภัณฑ์ของตนจะดึงดูดผู้รับประทานวีแกนและมังสวิรัติ รวมถึงผู้รับประทานเนื้อสัตว์ที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริษัทเพาะเลี้ยงเซลล์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชารีอะห์จำนวน 3 คน เพื่อตรวจสอบการผลิตของบริษัท ซึ่งระบุว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์สามารถเป็นสินค้าฮาลาลได้หากเซลล์ที่ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์มีการเชือดที่ถูกต้องตามกฎหมายของศาสนาอิสลาม และถึงแม้ว่าในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไก่ของบริษัทแห่งนี้จะยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว แต่ความเห็นที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สหภาพออร์โธดอกซ์ (OU) ซึ่งเป็นหน่วยงานออกใบรับรองโคเชอร์ที่ใหญ่ที่สุด ระบุว่าไก่ที่เพาะเลี้ยงโดยบริษัทแห่งหนึ่งในอิสราเอลมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานโคเชอร์ เนื่องจากเซลล์ไก่ไม่ได้รับการป้อนส่วนผสมจากสัตว์ใด ๆ และสกัดจากไข่ที่ปฏิสนธิก่อนที่จะมีจุดเลือดใด ๆ ปรากฏขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก OU และหน่วยงานรับรองฮาลาลสํานักงานบริการอิสลามแห่งสหรัฐอเมริกา เผยว่า ผู้คนมากกว่า 12 ล้านคนในสหรัฐฯ บริโภคผลิตภัณฑ์โคเชอร์ และผู้คนอีก 8 ล้านคน บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาล
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.