TH EN
A A A

สถานการณ์มังคุดตลาดเจียซิงเดือนสิงหาคม 2566

11 September 2566   

                    ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง เป็นตลาดค้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเขตตะวันออกของจีน รายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาผลไม้ในตลาดตกต่ำ ได้แก่ 1) เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน (ความต้องการจำหน่ายมากกว่าความต้องการซื้อ) และ 2) คุณภาพผลไม้ไม่ดี โดยในตลาดจีนปีนี้ผลไม้หลายชนิดราคาตก เช่น แตงโม และองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท (Shine Muscat) เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีมากเกินไปจนทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินหรือสินค้าล้นตลาด แต่ในกรณีของทุเรียนและมังคุดที่เกิดภาวะราคาตกต่ำในช่วงเดือนสิงหาคมมีสาเหตุหลักมาจากคุณภาพไม่ดี โดยพบทุเรียนมีหนอนจำนวนมาก ส่วนมังคุดมีเนื้อแก้วและยางไหล ทำให้ร้านค้าที่รับซื้อผลไม้ต้องแบกรับความเสี่ยงสูง
                    ในตลาดจีนปีนี้ ราคามังคุดในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลพุ่งสูงจนเกือบเท่าราคาที่เคยสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 มังคุดไทย 7.5 กิโลกรัม/ลัง ราคาสูงสุดสูงเกือบ 500 หยวน โดยมีบางส่วนราคาเกิน 500 หยวน/ลัง (ประมาณ 2,500 บาท) ซึ่งราคาค้าปลีกทั่วไปสูงกว่า 35 หยวน/500 กรัม (ประมาณ 175 บาท) แต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ราคามังคุดลดต่ำลงจนเท่ากับราคาผักกาดขาว โดยร้านค้าผลไม้บางแห่งจำหน่ายมังคุดในราคาเพียง 9.9 หยวน/500 กรัม (ประมาณ 49 บาท)
                    มังคุดที่จำหน่ายในตลาดจีนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นหลัก โดยมังคุดที่จำหน่ายอยู่ในตลาดจีน ณ ปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของประเทศไทย โดยเป็นมังคุดขนาด 3A - 4A ทั้งนี้ ฤดูกาลมังคุดไทยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ฤดูกาลมังคุดภาคตะวันออกอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ส่วนภาคใต้ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ในขณะที่มังคุดอินโดนีเซียต้องรอจนถึงช่วงเดือนธันวาคม – เมษายนของปีถัดไป อย่างไรก็ดี มังคุดไทยมีปริมาณผลผลิตมากกว่าและมีรสชาติดีกว่ามังคุดอินโดนีเซีย
                    เดือนสิงหาคมเป็นช่วงปริมาณผลผลิตสูงสุดของฤดูกาลมังคุดภาคใต้ของไทย ซึ่งมังคุดจะมีอายุการเก็บรักษาสั้นและมีสินค้าเข้ามายังตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ค้าผลไม้จึงต้องลดราคาต่อเนื่องเพื่อระบายสินค้าออก นอกจากนี้ คุณภาพมังคุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่ค่อยดี คุณภาพโดยรวมต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยอัตราการพบมังคุดเนื้อแก้วเพิ่มมากขึ้น คุณภาพไม่คงที่ เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศในปีนี้ โดยสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้ของประเทศไทยร้อนชื้นและมีฝนตกชุก ทำให้มังคุดมีแนวโน้มเกิดอาการเนื้อแก้วสูง แม้ว่ามังคุดเนื้อแก้วจะสามารถรับประทานได้เนื่องจากไม่ใช่การเน่าเสีย แต่มีรสชาติไม่อร่อยและผู้บริโภคจีนไม่นิยมซื้อรับประทาน เมื่อไม่นานมานี้ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพมังคุดค่อนข้างมากเนื่องจากมีอัตราการพบมังคุดเนื้อแก้วสูง ซึ่งมังคุดคุณภาพต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคามังคุดในช่วงนี้ลดต่ำลง
                   เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดผลไม้เจียซิง และได้พบปะหารือกับผู้จัดการตลาดฯ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามังคุดของไทย โดยผู้จัดการตลาดฯ แจ้งว่า ช่วงนี้มังคุดไทยมีคุณภาพไม่ค่อยดี มีอัตราการพบเนื้อมังคุดเนื้อแก้วสูงถึงร้อยละ 50 ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ ปริมาณการค้ามังคุดในตลาดเจียซิงลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 200 ตู้ หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ปริมาณการค้ามังคุดในตลาดฯ ทั้งหมดมีเพียง 139 ตู้เท่านั้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาราคามังคุดในตลาดฯ สูงถึง 170-180 หยวน/ลัง (7.5 กิโลกรัม) แต่ในปีนี้มังคุดราคาสูงสุดเพียง 110 หยวน/ลัง ทั้งนี้ ตลาดได้แจ้งว่า ช่วงนี้มังคุดอินโดนีเซียคุณภาพดีกว่ามังคุดไทย

 

ที่มา : ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?