เมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 หน่วยงาน 3 แห่งของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ได้มีการเตือนว่าการระบาดของไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกทำให้เกิดความกังวลว่าไวรัสชนิดนี้อาจมีการปรับตัวและสามารถแพร่เข้าสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น และได้มีการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มการเฝ้าระวังโรคและปรับปรุงสุขอนามัยของฟาร์มสัตว์ปีก
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งก่อให้เกิดโรคในหมู่นกป่าได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่ใหม่ ส่งผลให้มีการแพร่เชื้อและสูญเสียสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้เกิดความกังวลต่อการระบาดในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่ามีประชากรเพียงเล็กน้อยที่มีกรณีสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมีอาการไม่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ได้ขอความร่วมมือประเทศต่าง ๆ ว่าควรร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือสัตว์และปกป้องมนุษย์ให้มากที่สุด
นอกจากนี้ WHO ยังระบุเพิ่มเติมว่า ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องแบ่งปันข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสในมนุษย์และสัตว์ในฐานข้อมูลสาธารณะ โดยตั้งแต่ปี 2565 มีประมาณ 10 ประเทศได้รายงานกรณีการระบาดของไข้หวัดนกทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกและทางทะเล รวมถึงตัวมิงค์ที่เลี้ยงในฟาร์มประเทศสเปน แมวน้ำในสหรัฐอเมริกา และสิงโตทะเลในเปรูและชิลี
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.