คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่อินโดนีเซียและมาเลเซียได้กล่าวหาว่ากฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลว่าข้อกำหนดที่ซับซ้อนของกฎระเบียบฉบับนี้จะทำให้สร้างภาระทางการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย
ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีจากอินโดนีเซียและมาเลเซียได้เดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อแจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว โดยมีการสรุปผลกระทบกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป (EUDR) ที่อาจมีต่อเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งภายใต้กฎหมายใหม่นี้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบย้อนกลับรวมถึงระบุตำแหน่งที่แม่นยำของสินค้าที่ผลิต เพื่อพิสูจน์ว่าฟาร์มไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าหลังปี 2020 และเพื่อจัดการความเสี่ยงของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจสอบกฎระเบียบจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และจะได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเอกสารและรายละเอียดกระบวนการภายในของบริษัทและผู้ค้า ทั้งนี้ มาเลเซียและอินโดนีเซียระบุว่า กฎหมายว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปเป็นเรื่องง่ายสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่จะปฏิบัติตาม แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยที่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นทางการผลิตจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันทางสหภาพยุโรปก็ได้มีการแสดงความเห็นใจต่อเกษตรกรรายย่อยในอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ก็ยังยืนยันว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศโลก และกล่าวว่าสิ่งสำคัญหลักของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่เกษตรกร แต่อยู่ที่ผู้ประกอบการที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมกับการควบคุมตลาดสหภาพยุโรป และในส่วนของข้อกำหนดในด้านตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับจะสามารถใช้สมาร์ทโฟนธรรมดา ซึ่งจะช่วยลดระดับความยุ่งยากของขั้นตอนลงได้ โดยบริษัทขนาดเล็กจะได้รับระยะเวลาในการปรับตัวที่นานกว่าบริษัทขนาดใหญ่
ที่มา : EURACTIV สรุปโดย : มกอช.