ทีมนักวิจัย 6 ชาติ ได้เผยผลการศึกษาในวารสาร Nature Communications ว่าด้วยการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์จากสาหร่ายเคลป์ 6 สกุล (Ecklonia, Laminaria, Lessonia, Macrocystis, Nereocystis, และ Saccharina) ที่ฟอร์มตัวเป็นป่าเคลป์ใต้ทะเลทั่วโลกและปัจจุบันกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ป่าเคลป์ทั่วโลกสามารถสร้างมูลค่าด้านการประมงและการดูดซับคาร์บอน-ไนโตรเจน (sequestration) คิดเป็นมูลค่ารวมเฉลี่ยถึงปีละ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท)
ปัจจุบันพื้นที่ป่าเคลป์ใต้ทะเลทั่วโลก มีอยู่ถึงประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร ใน 8 พื้นที่ของมหาสมุทรที่นักวิจัยประเมิน โดยเฉพาะสกุล Laminaria และ Macrocystis ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 90 สามารถสร้างผลผลิตสินค้าประมงได้เฉลี่ย 904 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อปี ที่อัตรา extraction rate ที่ 38% หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยถึงประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ (ประมาณ 7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อตารางกิโลเมตรต่อปี) ในขณะที่สามารถดักจับคาร์บอนได้มากถึง 4.9 เมกะตัน (4.9 ล้านตัน) ต่อปี
การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว เป็นการประเมินโดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของป่าสาหร่ายเคลป์ พร้อมทั้งแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญนี้อย่างเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันป่าเคลป์ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ที่ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้มีการบันทึกความเสียหายจากคลื่นความร้อนในทะเลที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงได้มีการเรียกร้องให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในการรักษาความสะอาดของน้ำและมหาสมุทรเพื่อป้องกันการปลดปล่อยน้ำเสียและวัตถุมีพิษทางการเกษตร
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่: https://doi.org/10.1038/s41467-023-37385-0
ที่มา : Nature Communications สรุปโดย : มกอช.