TH EN
A A A

อิตาลีเจ๋ง! คิดค้นแบตเตอรีกินได้-ชาร์จได้

8 May 2566   

                   นักวิจัยอิตาลีได้พัฒนาแบตเตอรีที่สามารถรับประทานได้โดยไม่เป็นอันตราย พร้อมทั้งนำมาประจุ (ชาร์จ) ไฟใหม่ได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารและการตรวจสอบคุณภาพอาหาร                    แรงบันดาลใจในการสร้างแบตเตอรีที่กินได้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยารีดอกซ์ทางชีวเคมี (biochemical redox reactions) โดยนักวิจัยได้ทำการพัฒนาแบตเตอรีที่ใช้ riboflavin (วิตามินบี 2 ที่พบในอัลมอนด์) เป็นขั้วแอโนด และใช้ quercetin (ส่วนประกอบที่มีอยู่ในเคเปอร์) เป็นขั้วแคโทด รวมถึงใช้ถ่านกัมมันต์ สาหร่าย ขี้ผึ้งและอื่นๆ ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถกินได้มาใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี ที่ให้แรงดันไฟฟ้า 0.65 โวลต์ ซึ่งถือเป็นแรงดันต่ำและไม่ก่อปัญหาต่อร่างกายมนุษย์ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 48 ไมโครแอมแปร์ ภายใน 12 นาที ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น หลอดไฟชนิด LED หรือพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์กับของเล่นเด็กเพื่อลดความเสี่ยงเมื่อถูกกลืน 
                   การพัฒนา ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กินได้’ เป็นสาขางานวิจัยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยมีทีมวิจัยที่ทำการศึกษาคุณสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ของอาหาร เพื่อหาวิธีผสมผสานคุณสมบัติต่างๆ เข้ากับวัสดุที่กินได้และสร้างวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ที่รับประทานได้โดยไม่เป็นอันตรายชนิดใหม่ต่อไป พร้อมพัฒนาเพิ่มความจุและลดขนาดแบตเตอรี

 

ที่มา : New Food Magazine สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?