องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้พิจารณาประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อยีน (Gene Editing) และมีความเห็นเบื้องต้นว่าอาจไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนากฎระเบียบรองรับเพิ่มเติม เนื่องจากการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อาจก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆ มีแนวทางกำกับดูแลอาหารที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อยีนที่แตกต่างกันออกไป และจากการพิจารณาตามแนวทางของมาตรฐานโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ก็ได้แสดงให้เห็นว่า วิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารและคำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการประเมินความปลอดภัยของอาหาร สามารถนำไปปรับใช้กับการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อยีนได้
การตัดต่อยีนนั้นแตกต่างกับการดัดแปรพันธุกรรม (GM) ตรงที่ไม่เกิดการหลงเหลือสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่น (เช่น จุลินทรีย์พาหะ หรือสารพันธุกรรมที่นำมาใช้ในการดัดแปรสิ่งมีชีวิตตั้งต้น) ในลักษณะเดียวกับการดัดแปรพันธุกรรมซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากตามธรรมชาติ สามารถใช้ในการเพาะพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น กล้วยที่ต้านทานไวรัสบางชนิด มันสำปะหลังที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำ หมูที่ต้านทานโรคไข้หวัดหมู และอื่นๆอีกมากมาย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.fao.org/3/cc5136en/cc5136en.pdf
ที่มา : FAO/Food Safety News สรุปโดย : มกอช.