งานวิจัยของ Plymouth Marine Laboratory University of East Anglia และ University of Plymouth ประเทศอังกฤษ ระบุว่า หอยแมลงภู่อายุน้อยที่สัมผัสกับไมโครพลาสติกในลักษณะไฟเบอร์ (ไมโครไฟเบอร์) ปริมาณมาก ทำให้มีการเติบโตที่จำกัด และเนื่องจากไมโครไฟเบอร์นั้นแพร่หลายมากในสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจผลกระทบของไมโครไฟเบอร์ที่มีต่อสิ่งมีชีวิต เช่น หอยแมลงภู่สีน้ำเงินซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่สำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารโลก
ปัจจุบัน ไฟเบอร์เป็นหนึ่งในรูปแบบที่พบมากที่สุดของไมโครพลาสติก โดยการค้นพบนี้อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลและอาจนำไปสู่ผลกระทบทางธุรกิจ ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาโดยทำการทดลองในห้องปฏิบัติการควบคุมอุณหภูมิทั้งในกลางวันและกลางคืนโดยใช้ไมโครไฟเบอร์ขนาด 10–500 µm (0.01 มม. – 0.5 มม.) และให้หอยแมลงภู่ได้สัมผัสกับไมโครไฟเบอร์โพลีเอสเตอร์ที่มีความเข้มข้น 2 ระดับ คือ 8 ไมโครไฟเบอร์ต่อลิตร และ 80 ไมโครไฟเบอร์ต่อลิตร และสัมผัสกับไมโครไฟเบอร์ฝ้าย 80 ไมโครไฟเบอร์ต่อลิตร พบว่าหอยแมลงภู่ที่มีการสัมผัสไมโครไฟเบอร์โพลีเอสเตอร์มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าหอยแมลงภู่กลุ่มควบคุม และหอยแมลงภู่ที่สัมผัส
ไมโครไฟเบอร์ฝ้ายมีการเจริญเติบโตคงที่ และไม่ได้มีการเจริญเติบโตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทีมนักวิจัยได้ตั้งสมมติฐานว่าอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลงของหอยแมลงภู่ที่เกิดจากไมโครไฟเบอร์นั้นอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณพลังงานของพวกมัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินเพื่อหลีกเลี่ยงการกินไมโครพลาสติก การถ่ายโอนพลังงานที่จะช่วยในการเจริญเติบโตไปยังไมโครไฟเบอร์ที่
แปรรูปและกินเข้าไป หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายที่เกิดจากไมโครไฟเบอร์เหล่านี้ และนอกจากนี้ในการศึกษาความเป็นพิษด้านอื่นเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระดับโมเลกุลและเซลล์ในหอยแมลงภู่ที่โตเต็มวัยได้เช่นกัน
ในด้านผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล นักวิจัยจากออสเตรเลียได้ตรวจพบไมโครพลาสติกที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันในหอยแมลงภู่สีน้ำเงินบริเวณชายหาดที่ได้รับความนิยมทางตอนใต้ของประเทศ และเตือนว่าการค้นพบในครั้งนี้ป็นสัญญาณว่าไมโครพลาสติกกำลังเข้าใกล้แหล่งอาหารของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงปลาที่จับได้จากมหาสมุทร ปลาจากฟาร์มที่ตั้งในบริเวณมหาสมุทร และอาหารทะเลที่มาจากมหาสมุทรทางตอนใต้และน่านน้ำในอ่าวทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ในขณะเดียวกัน ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของไมโครพลาสติกที่สะสมบนพื้นมหาสมุทรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
ในการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกยังคงสภาพอยู่ในตะกอนทะเล จากปริมาณ
ไมโครพลาสติกที่แยกตัวอยู่ในก้นทะเลนั้นมีอัตราการผลิตทั่วโลกใกล้เคียงกับปี 2508-2559 ซึ่งการศึกษานี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำการทดลองที่ยาวนานขึ้นเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล แม้ว่าผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อการทำงานทางชีวภาพบางแง่มุมสามารถเห็นได้ชัดในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ผลกระทบของความเข้มข้นต่อสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกต่อการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ และการอยู่รอด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประชากรมากที่สุดนั้น ต้องการระยะเวลาในการสังเกตที่นานขึ้น
ที่มา : Food ingredients 1st สรุปโดย : มกอช.