TH EN
A A A

ยุโรปแบนการอ้างสิทธิ์ฉลากเขียว

21 March 2566   

                    ตามรายงานของสมาคมองค์กรเพื่อผู้บริโภคในสหภาพยุโรป (BEUC) ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 ระบุว่า คำว่า คาร์บอนเป็นกลาง, CO2 เป็นกลาง และคาร์บอนเป็นบวก เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในชั้นวางซูเปอร์มาร์เก็ตของสหภาพยุโรป แต่คำกล่าวอ้างเหล่านี้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีและทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้อาจไม่สะท้อนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่น คำกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจเกิดจากการปฏิบัติเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต เช่น การปลูกต้นไม้ที่เป็น CSR ของภาคเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงภาษีแต่ไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม
                    ผู้อำนวยการทั่วไปของ BEUC กล่าวว่า คำกล่าวอ้างที่เป็นกลางทางคาร์บอนและอนุพันธ์อาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏไม่มีผลกระทบด้านลบต่อสภาพอากาศ และอาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนคิดว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังดำเนินการอย่างจริงจังด้านผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในรายสินค้าต่างๆ ในขณะที่ FoodDrinkEurope กล่าวว่า ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในยุโรปมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ของตนและให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค อีกทั้งได้ระบุว่าในปัจจุบันนี้มีฉลากและคำกล่าวอ้างจำนวนมากที่ถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีฉลากสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปประมาณ 230 ฉลาก และฉลากสิ่งแวดล้อมทั่วโลกประมาณ 450 ฉลาก ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนและทำให้อุตสาหกรรมพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
                    อนึ่ง ในวันที่ 22 มีนาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปจะเผยแพร่ข้อเสนอสำหรับ Green Claims Initiative  ในขณะที่สัปดาห์ถัดไป คณะกรรมการตลาดภายในและการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐสภายุโรปจะลงมติเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อให้อำนาจแก่ผู้บริโภคสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
                    ขณะนี้ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของยุโรปได้รวมตัวสนับสนุนการพัฒนากรอบกฎหมายที่สอดคล้องกันของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับการเรียกร้องที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีความประสงค์ที่จะพัฒนาข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับการให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจ การสร้างและยืนยันการกล่าวอ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีที่ตรวจสอบได้ เข้าใจง่าย และเทียบเคียงได้ทั่วทั้งสหภาพยุโรปจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทต่าง ๆ และส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น

ที่มา : EURACTIV   สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?