TH EN
A A A

ฟุกุชิมะเจ๋งเปลี่ยนข้าวเป็นพลาสติกคาร์บอนต่ำ

20 March 2566   

                  เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในโตเกียวได้เปิดโรงงานที่เมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อแปรรูปข้าวในท้องถิ่นให้เป็นเม็ดผสมกับพลาสติก ซึ่งจะถูกแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ประกอบไปด้วย ช้อนส้อมพลาสติก ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติกที่ใช้ในที่ทำการไปรษณีย์และของที่ระลึกที่จำหน่ายในสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
                  หลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะเมื่อกว่าสิบปีก่อน ข้าวที่ขายได้ยากเนื่องจากข้อกังวลประเด็นการปนเปื้อนรังสีจากผู้ซื้อ จำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการใช้ในฐานะชีวมวลที่ไม่เข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นทางออกที่ดี
                  พื้นที่ของเมืองนามิเอะทอดยาวจากเนินเขาที่ปกคลุมด้วยป่าไปจนถึงฝั่งมหาสมุทร และอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเพียง 4 กิโลเมตร แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่รอบเขตฟุกุชิมะจะฟื้นตัวจากแผ่นดินไหวและสึนามิแล้ว แต่ปัจจุบันที่ดินประมาณ 80% ของเมืองนามิเอะยังคงถูกจำกัดการใช้งาน
                  การแปรรูปข้าวเป็นวัตถุดิบพลาสติกทำโดยการนำข้าวมารวมเข้ากับเม็ดพลาสติกขนาดเล็กมีการให้ความร้อนและนวดก่อนจะอัดขึ้นรูปเป็นแท่งบาง ๆ ทำให้เย็นลงและตัดเป็นเม็ดสีน้ำตาลเล็ก ๆ จากนั้นทำการอัดเม็ด โดยแม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการย่อยสลายทางชีวภาพ แต่การใช้ข้าวเข้ามาเป็นส่วนประกอบจะลดการใช้ปิโตรเลียม ลดคาร์บอนฟุตพรินท์ และเป็นการใช้ข้าวที่ปลูกในเมืองนามิเอะเป็นวัตถุดิบ
                  ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปนเปื้อนทางรังสีกล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วข้าวสามารถดูดซับกัมมันตภาพรังสีได้น้อยมาก การทดสอบเพิ่มเติมไม่พบข้าวที่มีการปนเปื้อนเกินขีดจำกัด ซึ่งหมายความพลาสติกที่ผสมข้าวก็ไม่มีการปนเปื้อนเช่นกัน

ที่มา : Reuters  สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?