หน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของรัฐบาลบราซิลวางแผนขยายการทดสอบข้าวสาลีทนแล้งดัดแปรพันธุกรรมหลากหลายสายพันธุ์ โดยมีเป้าหมายที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้ในพืชผลหลัก และเป็นผู้ส่งออกในอนาคต หัวหน้าฝ่ายวิจัยข้าวสาลีของหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตร กล่าวว่า นอกเหนือจากการทดสอบข้าวสาลีดัดแปรพันธุกรรมในภูมิภาค Cerrado ของบราซิลแล้ว หน่วยงานยังมีเป้าหมายที่จะปลูกในรัฐ Minas Gerais เพื่อสังเกตความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะเขตร้อน ของเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี GM ที่พัฒนาโดยบริษัทจากอาร์เจนตินา
การอนุมัติการปลูกและการขายข้าวสาลี GM ในบราซิลเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ทำให้หน่วยงานวิจัยสามารถทดสอบข้าวสาลีในหลายพื้นที่ของประเทศได้ สิ่งนี้จะช่วยให้นักวิจัยชาวบราซิลเห็นว่าพืชเป็นอย่างไรภายใต้สภาวะต่างๆ ที่แตกต่างกัน และจะทำให้เกษตรกรใกล้ชิดกับการปลูกข้าวสาลี GM ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น หากการทดลองปลูกเป็นไปตามที่คาดหวัง จะเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้อย่างทั่วถึง
ตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของบราซิล ข้าวสาลีทนแล้งสามารถปลูกได้มากถึง 3 ล้านเฮกตาร์ (18.75 ล้านไร่) ในระดับความสูงกว่า 800 เมตรในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งข้าวสาลีสามารถปลูกเป็นพืชหมุนเวียนในชีวนิเวศของภูมิภาค Cerrado ของบราซิล ที่มีการปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดเป็นพืชขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตว่าบราซิลยังมีเมล็ดข้าวสาลี GM ไม่เพียงพอสำหรับการทดสอบในปริมาณมาก และจำเป็นต้องมีการวิจัยอีกเป็นเวลา 4 ปีเพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัวของข้าวสาลี GM กับสภาพเขตร้อนของบราซิล
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.