อาหารปลอมถือเป็นประเด็นสำคัญภายใต้นโยบายด้านความปลอดภัยอาหารของแคนาดา ด้วยเหตุนี้ ในปี 2564 – 2565 องค์การตรวจสอบอาหารของแคนาดา (CFIA) จึงริเริ่มดำเนินการเพื่อป้องกัน ตรวจจับ และยับยั้งอาหารปลอม ประกอบด้วย (1) การติดตามความเสี่ยงด้านอาหารปลอมทั้งความเสี่ยงที่มีอยู่แล้วและความเสี่ยงอุบัติใหม่ พร้อมวางแผนการลดความเสี่ยง (2) การเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ผู้บริโภคผ่านแคมเปญ โฆษณา และการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ (3) การสร้างร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพื่อแบ่งปันข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (4) การพัฒนาด้านการวิจัยและวิธีวิจัยขั้นสูงเพื่อตรวจจับอาหารปลอม และ (5) การกำหนดเป้าหมายการเฝ้าระวังสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง และการควบคุมกำกับดูแลสินค้าที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ
จากการเฝ้าระวัง โดยการตรวจสอบ การสุ่มตัวอย่าง และการทดสอบในสินค้าเป้าหมายจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้นำเข้า ผู้แปรรูปในประเทศ และผู้ค้าปลีก ได้แก่ ปลา น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ น้ำมันมะกอก น้ำมันอื่นๆ และเครื่องเทศ กว่า 844 ตัวอย่าง พบว่า มีปลาที่เป็นไปตามกฎระเบียบ ร้อยละ 92.7 น้ำผึ้ง ร้อยละ 77.5 เนื้อสัตว์ ร้อยละ 99.1 น้ำมันมะกอกร้อยละ86.9 น้ำมันอื่น ๆ ร้อยละ 64.3 และเครื่องเทศ ร้อยละ 90.8 ทั้งนี้ หากตรวจพบสินค้าไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ CFIA จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ออกจากตลาด การกักกัน การทำลาย หรือการติดฉลากใหม่
หมายเหตุ: อาหารปลอม หมายถึง อาหารที่เกิดจากการทดแทน การเจือปนหรือเจือจาง การติดฉลากผิด การกล่าวอ้างที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 3 มกอช.