การวางพันธบัตรค้ำประกันการนำเข้ากุ้งหรือซีบอนด์กับการคิดภาษี Zeroing ห่วงค้ำคอการส่งออกกุ้งไทยไปตลาดสหรัฐฯ ส่อเค้ายืดเยื้อ หลังกลุ่มพันธมิตรกุ้งภาคใต้ 8 มลรัฐ (SSA) ตัดสินใจยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯขอให้อุทธรณ์คำตัดสินของ WTO
นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อัคราชทูตที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับทราบว่า หลังกลุ่มพันธมิตรกุ้งภาคใต้ 8 มลรัฐ (SSA) ตัดสินใจยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อคัดค้านผลการตัดสินของ WTO ที่ให้ไทยชนะสหรัฐฯ กรณีสหรัฐฯ เรียกเก็บซีบอนด์กับการคำนวณภาษีระบบ SSA ยังขอให้สหรัฐฯคงมาตรการทั้ง 2 ไว้ตามเดิม
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การพิจารณาทบทวนภาษี AD ประเทศไทยในอัตราที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 5.95% เป็น 6.09% โดยเฉพาะบริษัทไทยยูเนียนไฟร์เซ่นที่ถูกเรียกเก็บสูงสุด 15% ส่วนการส่งออกกุ้งไทยปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคืออัตราแลกเปลี่ยน หากค่าบาทแข็งขึ้นทุก 1 บาท การส่งออกจะหายไป 5% จากเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่า การส่งออกน่าจะขยายตัว 100,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมี 75,000-80,000 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯนั้น ซึ่งสมาคมเป็นห่วงว่า สัดส่วนการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯจะลดลงเหลือ 48% จากเดิมเคยกำหนดไว้ 51% อย่างไรก็ตาม สมาคมมีแผนจะเร่งผลักดันกุ้งไปตลาดใหม่ เช่นรัสเซีย และเพิ่มการส่งออกไปญี่ปุ่นจาก 17% เป็น 40% เนื่องจากค่าเงินบาทและเงนเยนปรับแข็งให้เคียงกัน และไทยได้สิทธิลดภาษีภายใต้กรอบ JTEPA รวมทั้งกรณีพบสารพิษในเกี๊ยวซ่าที่ผลิตจากโรงงานในจีนส่งผลให้ผู้นำเข้าญีปุ่นลดการนำเข้าจากจีนหันมานำเข้าจากไทยแทน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ