TH EN
A A A

นักวิจัยผู้ดีพบความสัมพันธ์อาหารแปรรูปขั้นสูงกับมะเร็ง

13 February 2566   

                  จากผลการวิจัยเชิงสังเกตของ Imperial College London พบว่า การบริโภคอาหารที่จัดอยู่ในประเภทอาหารแปรรูปขั้นสูง (Highly Processed Food) อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งการก่อให้เกิดโรคมะเร็งและการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในคนอังกฤษ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถระบุปัจจัยเชิงสาเหตุทางตรงระหว่างอาหารแปรรูปขั้นสูงกับมะเร็งได้ และคาดว่าจะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุลักษณะความสัมพันธ์ที่ชัดเจนต่อไป
                  นักวิจัยได้ใช้บันทึก Biobank ของสหราชอาณาจักรเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของผู้ใหญ่วัยกลางคนจำนวน 200,000 คน โดยทำการตรวจสอบสุขภาพของผู้เข้าร่วมทดลองเป็นเวลา 10 ปี โดยดูการเสี่ยงการเกิดมะเร็งโดยรวมตลอดจนดูความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในการเกิดมะเร็ง 34 ชนิดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพิจารณาว่าผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูปขั้นสูงเพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์ทางตรงต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหรือไม่
                  จากผลการวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูงนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งสมอง โดยทุกๆ 10% ที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูงจะเพิ่มความเสี่ยง 2% สำหรับการเกิดมะเร็ง และเกิดความเสี่ยง 19% สำหรับมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะ ส่วนอัตราการเสียชีวิตโดยรวมจากมะเร็งเพิ่มขึ้น 6% มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 16% มะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งความเชื่อมโยงเหล่านี้ยังคงอยู่หลังจากการปรับฐานการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติกรรม และอาหาร เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การเคลื่อนไหวร่างกาย และดัชนีมวลกาย (BMI)
                  นิยามอาหารแปรรูปขั้นสูงในงานวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปอย่างเข้มข้นในระหว่างการผลิต เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม ขนมปังแบบบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตครั้งละจำนวนมาก อาหารสำเร็จรูป และซีเรียลธัญพืช ซึ่งมักประกอบด้วยเกลือ ไขมัน และน้ำตาลในปริมาณที่สูงกว่าอาหารสำเร็จรูปทั่วไป รวมทั้งอาจมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในสัดส่วนที่สูงด้วย โดยประเทศที่บริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูงมากที่สุดในทวีปยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร
                  ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้แนะนำให้ภาครัฐกำหนดมาตรการจัดการเพื่อลดการบริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูง โดยเรียกร้องให้มีการติดฉลากเตือนหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อช่วยในการเลือกบริโภค และควรมีการเพิ่มภาษีน้ำตาลให้ครอบคลุมไปถึงเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ผ่านกรรมวิธีพิเศษ เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของผลไม้และนมเป็นส่วนประกอบหลัก รวมถึงเครื่องดื่มที่ผ่านกรรมวิธีอื่น ๆ
                  ศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่: https://doi.org/10.1016/j.eclinm.2023.101840

แปลและสรุปเรียบเรียงโดย : มกอช.

Is this article useful?