TH EN
A A A

อุปสรรคการพัฒนาศักยภาพสาหร่ายทะเลอินโดนีเซีย

6 February 2566   

                 อินโดนีเซียเตรียมยกระดับนำสาหร่ายทะเล – ผลผลิตขึ้นชื่อของประเทศ – ไปผลิตเป็นน้ำมันดิบชีวภาพ   เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบต้นทุนสูง โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ณ การประชุมประจำปี World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของอินโดนีเซีย แถลงความเชื่อมั่นต่อวัตถุดิบสาหร่ายทะเลที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานทดแทนที่แข่งขันกับชีวมวลอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องสูญเสียผืนดินที่ใช้ปลูกจำนวนมาก ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและไม่รบกวนกับแหล่งน้ำจืด แต่จำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้และการบริหารจัดการความเสี่ยงต้นทุน และยังมีหลายประเทศเช่นเกาหลีใต้ที่เล็งเห็นศักยภาพของสาหร่ายทะเลในฐานะวัตถุดิบที่จะช่วยนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon ตามปฏิญญาลดการปล่อยมีเทน
                 ข้อมูลปี 2564 จากฐานข้อมูล United Nations Comtrade พบว่า อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกสาหร่ายรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีปริมาณการส่งออกมากกว่า 187,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นอันดับ 4 ในการส่งออกสาหร่ายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมในปริมาณ 21,452 ตัน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงศักยภาพของประเทศในอุตสาหกรรมสาหร่ายทั่วโลก หัวหน้าศูนย์ศึกษาทรัพยากรชายฝั่งและมหาสมุทร (PKSPL) ของมหาวิทยาลัย IPB พบว่ายังมีพื้นที่ “เพาะเลี้ยงสาหร่าย” อีกเป็นวงกว้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับการปลูกพืชบนบกแล้วเหนือกว่าหลายด้าน ทั้งต้นทุนปุ๋ย ยา วัสดุปลูก และอื่นๆ
                 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนมหาวิทยาลัย Jenderal Achmad Yani ได้ให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรใช้มาตรการในการป้องกันก่อนที่จะขยายพื้นที่ในการปลูกสาหร่ายเพื่อใช้ในเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ดังเช่นข้อมูลจากเกาะซุมบาตะวันออก จังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก แสดงให้เห็นว่าการปลูกสาหร่ายในท้องถิ่นไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ เนื่องจากระดับสารอาหารในทะเลโดยรอบเสื่อมโทรมลง ในขณะเดียวกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพฟาร์มสาหร่าย กล่าวว่า ชีวมวลจากสาหร่ายทะเล 1 ตัน จำเป็นต้องมีราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สามารถทดแทนกับน้ำมันดิบจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องลดต้นทุนพร้อมขยายพื้นที่โดยใช้เครื่องจักรกลและการปรับปรุงพันธุ์เป็นเครื่องมือ

ที่มา : The Jakarta Post   สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?