ราคาหัวหอมในฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โดยมีราคาพุ่งสูงถึง 800 เปโซ (ประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 480 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาของเนื้อไก่และเนื้อหมู ส่งผลให้ร้านอาหารบางแห่งได้ยกเลิกการใช้หัวหอมเป็นวัตถุดิบหลัก รวมทั้งการยกเลิกใช้วัตถุดิบในครัวเรือน และมีหลายฝ่ายต้องการผลักดันให้ราคาหัวหอมกลับมาอยู่ที่ระดับ 200 เปโซต่อกิโลกรัม และหลาย ๆ ครอบครัวก็ได้หยุดประกอบอาหารด้วยหัวหอมที่เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการหัวหอมที่สูงและผลักดันราคาขายปลีกให้กลับมาต่ำกว่า 200 เปโซ รัฐบาลจึงได้อนุมัติการนำเข้าหัวหอมจำนวน 21,000 เมตริกตัน และเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้มีการจัดการกับกลุ่มพ่อค้าที่กักตุนหัวหอม แต่ราคาของหัวหอมก็ยังคงสูงขึ้นและเกษตรกรบางคนก็มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วกว่าปกติเพื่อให้ได้ผลกำไรที่มากขึ้น โดยเกษตรกรอาจได้รับเงินค่าหัวหอมจากแปลงมากถึง 250 เปโซต่อกิโลกรัม และไปถึงสถานที่จำหน่ายปลีกในราคาสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวันในฟิลิปปินส์
จากราคาที่สูงขึ้น ผักที่ดูเรียบง่ายนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและมีโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งที่ล้อเลียนข้อเท็จจริงของสถานการณ์นี้ มีแม้กระทั่งการนำหัวหอม (ราคาแพง) มาใช้แทนดอกไม้สำหรับช่อดอกไม้ในงานแต่งงาน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น อาหารชนิดอื่น เช่น น้ำตาล เกลือ และข้าวก็เคยได้รับผลกระทบจากผลผลิตที่ตกต่ำ ต้นทุนสูง การลงทุนด้านชลประทานและเครื่องจักรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ภัยพิบัติ เช่น พายุไต้ฝุ่น การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนราคาน้ำมันและปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก
ที่มา : The Japan Time สรุปโดย : มกอช.