งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability พบว่าการขยายการทำฟาร์มสาหร่ายอาจเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของโลก บรรเทาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิจัยจาก School of Earth and Environmental Science แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ให้ความเห็นว่าสาหร่ายทะเลเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนเพื่อทดแทนการทำการเกษตรบนที่ดินและตอบสนองความต้องการอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น สาหร่ายทะเลมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และสิ่งแวดล้อมในฐานะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เช่น อาหารสัตว์ พลาสติก เส้นใย ดีเซล และเอทานอล
งานวิจัยดังกล่าวมีการจำลองการจัดการชีวมณฑลทั่วโลกเพื่อพิจารณาศักยภาพการเพาะพันธุ์ของสาหร่ายทะเลที่มีความสัมพันธ์ในเชิงพาณิชย์มากกว่า 34 ชนิด และทำการประเมินผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมของสถานการณ์ต่างๆ ตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำและปุ๋ยเคมี และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ภายในปี 2050 ผลการศึกษาพบว่าการขยายฟาร์มสาหร่ายทะเลสามารถช่วยลดความต้องการพืชที่อยู่บนดินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรทั่วโลก (GHG) ได้ถึง 2.6 พันล้านตันเทียบเท่า CO₂ ต่อปี โดยหนึ่งในสถานการณ์สมมติจากการทดลองที่ทำการทดแทนอาหารของมนุษย์ร้อยละ 10 ทั่วโลกด้วยผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย จะช่วยลดการพัฒนาพื้นที่ 110 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 690 ล้านไร่) สำหรับการทำฟาร์มได้ และยังพบว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซียเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดที่เหมาะสมกับการทำฟาร์มสาหร่าย ในขณะที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของออสเตรเลียนั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความหลากหลายของสาหร่ายเชิงพาณิชย์ได้อย่างน้อย 22 สายพันธุ์
ที่มา : The Fish Site สรุปโดย : มกอช.