ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ถึงกำหนดครบ 3 ปีในปีนี้ และในปี 2542 ถือเป็นปีแรกที่มีการทบทวนความตกลงฯในระดับรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาภาพรวมการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัว 11.40% มูลค่า 329,706 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 197,515 ล้านบาทขยายตัว 19.53% และนำเข้า 132,190 ล้านบาท หรือขยายตัว 1.13% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 65,325 ล้านบาท
ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอนั้น ผู้ส่งออกได้ขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าคิดเป็นมูลค่าส่งออก 4,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 66.37 %
การนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียนั้น ผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าที่ไทยกังวลมากที่สุดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ปี 2550 ไทยนำเข้าลดลง 23.96% มูลค่า 2,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากออสเตรเลียเกิดภาวะภัยแล้ง นายโชค บุลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย จำกัด ให้ความเห็นว่า ไทยไม่ควรดีใจกับตัวเลขนี้ เพราะแม้ว่าการนำเข้าจะลดลง แต่ราคาเข้าปรับตัวสูงขึ้นจาก 8 เป็น 19 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรไทย เพราะราคาน้ำนมดิบไทยปรับจตัวสูงขึ้นเป็น 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการตัดราคากันเอง โดยเสนอจำหน่ายนอกระบบราคาที่ อสค.กำหนด จะเกิดผลเสียระยะยาว อย่างไรก็ตามช่วงนี้ไทยควรพัฒนาอุตสาหกรรมนมและการเลี้ยงในไทยให้มีความเข้มแข็งระดับสหกรณ์ แทนที่การกลับหันไปนำเข้านมผงราคาถูกจากจีน ซึ่งคุณภาพต่ำ
ในความตกลง ออสเตรเลียใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) กับสินค้าไทย 4 รายการ โดยมี 2 รายการที่ไทยมีศักยภาพ คือปลาทูน่ากระป่อง และสับปะรดกระป๋อง
ออสเตรเลียกำหนดโควตาปลาทูน่ากระป๋องปี 2550 จำนวน 23,556,320 กิโลกรัม อันตราภาษี 0% ไทยส่งออกไปครบโควต้าตั้งแต่ 18 กันยายน ส่วนสับปะรดกระป๋อง ออสเตรเลียกำหนดโควตาปี 2550 จำนวน 6,706,725 ลิตร อัตราภาษี 0% ไทยส่งออกไปครบโควต้าตั้งแต่ 8 ตุลาคม และหลังจากนั้นทางออสเตรเลียกำหนดว่าจะเก็บภาษีนำเข้าทั้ง 2 สินค้าในอัตราปกติคือ 5% และในปี 2551 เฉพาะปริมาณในโควตาจะเก็บภาษีที่อัตรา 0% เช่นเดิม แต่ตั้งแต่ปี 2552 ไทยสามารถส่งออกได้ไม่จำกัดจำนวนในอัตราภาษี 0%