นอร์เวย์เป็นประเทศผู้ส่งออกแซลมอนรายใหญ่ของโลก ที่กำลังมีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการแพร่พันธุ์ของปลาเลี้ยงสู่ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้การผลิตปลาตัดต่อพันธุกรรมที่ไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้จึงเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจ ล่าสุด นักวิจัยชาวนอร์เวย์จากสถาบันวิจัยทางทะเลได้นำเทคนิค CRISPR/Cas9 ซึ่งเป็นเทคนิคตัดต่อพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและรวดเร็วและไม่มีการหลงเหลือยีนของสิ่งมีชีวิตอื่น มาใช้ศึกษาการแก้ไขพันธุกรรมของปลาแซลมอน เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะเป็นหมัน และหากนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์กับปลาแซลมอนเลี้ยง เมื่อปลาหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ ก็จะทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ อีกทั้งยังลดปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพและคุณภาพของปลาอย่างการเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่เร็วเกินไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนศึกษาในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ความต้านทานโรค ความแข็งแรง
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิจัยจะพบว่าการใช้ CRISPR/Cas9 มีข้อดีในด้านการผลิตปลาที่มีลักษณะเป็นหมันได้เป็นจำนวนมาก และสามารถถ่ายทอดลักษณะการเป็นหมันในรุ่นต่อๆ ไปได้ แต่ก็ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นในงานวิจัย อีกทั้งในเชิงพาณิชย์ยังคงมีอุปสรรคในด้านการยอมรับของผู้บริโภค รวมถึงด้านกฎหมายที่หลายๆ ประเทศ ยังคงให้สัตว์ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมถูกควบคุมในลักษณะเดียวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
ที่มา : SeafoodSource สรุปโดย : มกอช.