นายชินทาโร อิชิฮาระ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (Tokyo) ประกาศจะศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการติดฉลากกำกับสินค้าอาหารแปรรูปที่เข้มงวดขึ้นโดยการระบุแหล่งกำเนิดของส่วนผสมอาหารในฉลาก แนวคิดนี้มีที่มาจากกรณีอาหารเป็นพิษจากเกี๊ยวซ่านำเข้าจากจีน เขาระบุว่า JAS Law ไม่ได้บังคับให้ระบุแหล่งกำเนิดสำหรับส่วนผสมในฉลากไม่ว่าอาหารแปรรูปใช้วัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมอาหารจากในประเทศหรือจากการนำเข้าก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากมีส่วนผสมอาหารมากกว่า 50% ของน้ำหนักสินค้ารวมแล้ว JAS กำหนดให้ระบุแหล่งกำเนิดของส่วนผสมอาหารดังกล่าวด้วย กรณีเกี๊ยวซ่าจากจีน ฉลากสินค้าระบุเพียงว่า ผลิตจากจีน มิได้ระบุว่าบริษัทซื้อส่วนผสมอาหารจากที่ใดทำให้ฉลากสินค้าไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม นายโทชิโร ชิราสุ ปลัดฝ่ายบริหารของกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การแสดงแหล่งกำเนิดสินค้าของส่วนผสมอาหารทุกรายการบนฉลากไม่ใช่เรื่องง่าย โดยให้เหตุผลงว่า อาหารแต่ละอย่างมีส่วนผสมหลายชนิด จึงยากที่จะระบุแหล่งกำเนิดที่ถูกต้อง และยังไม่มีตัวอย่างฉลากกำกับสินค้าที่ระบุแหล่งกำเนิดของส่วนผสมอาหาร นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงรายละเอียดแหล่งกำเนิดทั้งหมดบนพื้นที่ที่จำกัดของฉลาก
นอกจากนี้ โฆษกของบริษัทแห่งหนึ่งระบุว่า ส่วนผสมอาหาร เช่น ปลา ผัก มีการเปลี่ยนแผลงตามฤดูกาล บริษัทจะมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงหีบห่อบรรจุอาหารสูงขึ้นหากต้องเปลี่ยนฉลาก
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียว
ญี่ปุ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์