ปัญหาเชื้อก่อโรคดื้อยาทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.27 ล้านคน ในปี 2562 และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นปีละ 10 ล้านคน ในปี 2593 โดยสาเหตุหนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปศุสัตว์โดยไม่จำเป็น ซึ่งเปรียบเสมือนการปรับปรุงพันธุ์เชื้อก่อโรคให้มีความต้านทานยาปฏิชีวนะ สหภาพยุโรปจึงได้ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของปศุสัตว์มาตั้งแต่ปี 2549 และได้ออกกฎระเบียบ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2565 จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปศุสัตว์ให้ใช้เฉพาะกับสัตว์ตัวที่ป่วยเท่านั้น และกำหนดครอบคลุมถึงการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ประมง นม และไข่ ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต
องค์กรภาคประชาชนในสหภาพยุโรปได้ให้ความเห็นต่อกฎระเบียบดังกล่าวว่าจะยังปฏิบัติตามได้ยากหากยังไม่มีการปรับการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ เช่น การหย่านมลูกสุกรเร็วเกินไป หรือการเลี้ยงไก่พันธุ์ที่โตเร็วผิดปกติ ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์อย่างแออัด ซึ่งมีความอ่อนแอต่อเชื้อก่อโรค และจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษามากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงในสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม
โครงการ Early Warning ได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อดื้อยา ในวารสารรายไตรมาส https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=59#book/page1 และสวัสดิภาพสัตว์ ในวารสารรายไตรมาส https://warning.acfs.go.th/th/e-magazine/?page=68#book/page1
ที่มา : FoodNavigator สรุปโดย : มกอช.