ประชาคมยุโรปมีแนวโน้มจะยอมรับการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมด้วยเทคนิคใหม่มากขึ้น ดังเคยเสนอใน https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=7424
ล่าสุดพบข่าวอ้างถึงรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ระบุว่าเทคนิคสำหรับพัฒนาสายพันธุ์พืชดัดแปรพันธุกรรมสมัยใหม่ เช่น CRISPR/Cas มีศักยภาพในการช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตอาหารตามยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหารของสหภาพยุโรป โดยมีข้อเสนอให้ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์กรรมของสหภาพยุโรปเพื่อเปิดโอกาสให้กับสินค้าเกษตรกลุ่มนี้
ปัจจุบันสหภาพยุโรปยังไม่อนุญาตให้ผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมเชิงพาณิชย์ ตามกฎหมายควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2544 และเมื่อปี 2561 ศาลยุติธรรมยุโรปก็ได้ตัดสินให้สิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรมด้วยเทคนิคใหม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายดังกล่าว แม้จะมีการประเมินแล้วว่าการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างจากวิธีปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิมเลยก็ตาม ทว่ารายงานดังกล่าวก็ยังได้รับเสียงคัดค้านและความวิตกกังวลจากภาคประชาสังคมบางส่วน ที่ยังคงไม่มั่นใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่จะตรวจสอบได้ยากขึ้น
ที่มา : https://www.foodnavigator.com/ สรุปโดย : มกอช.