การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ดำเนินการบนหลักการสอดประสานและเป็นมิตรกับผู้เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในประเทศต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน National Organic Program (N.O.P.) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดได้มีกรณีพิพาทเมื่อองค์กรภาคประชาชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้สั่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ไม่รับรองการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics: ไฮโดรโปนิคส์) เพราะมีแนวคิดเกษตรอินทรีย์อยู่ประการหนึ่งคือเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ดิน และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็ได้กำหนดกระบวนการเตรียมดินให้เป็นอินทรีย์ไว้ การรับรองระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้กับการปลูกพืชไม่ใช้ดินจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตที่ใช้ดิน ซึ่งต้องมีการเตรียมการและลงทุนมากกว่า
จากกรณีพิพาทดังกล่าวศาลได้ตัดสินยกฟ้อง และทำให้หน่วยงานให้การรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ สามารถให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับระบบผลิตที่ใช้การปลูกพืชแบบไร้ดินได้ และคำพิพากษาดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมาย สามารถศึกษาคำพิพากษาฉบับเต็มได้จาก https://www.coalitionforsustainableorganics.org/wp-content/uploads/2021/03/CSA-Decision-3-19-21.pdf
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.