TH EN
A A A

นักวิจัยพบแบคทีเรียดีช่วยเพิ่มความปลอดภัยน้ำนมอูฐ

4 November 2563   

                น้ำนมอูฐเป็นอาหารที่บริโภคโดยทั่วไปในแอฟริกา และดินแดนต่าง ๆ ทั้งตะวันออกกลาง อินเดีย และมองโกเลีย แต่วิธีการบริโภคแบบดั้งเดิมของผู้คนในแอฟริกาเป็นวิธีที่อาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย โดยผู้ผลิตมักเก็บน้ำนมดิบจากอูฐมาจำหน่ายโดยไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ และปล่อยให้เกิดการหมักตามธรรมชาติ ซึ่งความเป็นไปได้สูงมากว่าแบคทีเรียก่อโรคอย่างอีโคไล (Escherichia coli) และซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) จะเพิ่มปริมาณจนถึงระดับที่เป็นอันตรายเมื่อบริโภคน้ำนมดังกล่าว ทั้งเกษตรกรในพื้นที่ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนทรัพย์ในการลงทุนระบบความเย็นเพื่อควบคุมเชื้อก่อโรคเหล่านั้นด้วย
                คณะนักวิจัยร่วมของประเทศเดนมาร์กและเอธิโอเปียจึงได้ร่วมกันแยกแบคทีเรียผลิตกรดแลคติค ซึ่งเป็นแบคทีเรียกลุ่มที่เป็นประโยชน์ มาจากผลิตภัณฑ์น้ำนมอูฐหมัก โดยแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มจำนวนแข่งกับแบคทีเรียก่อโรค แล้วสร้างกรดในน้ำนมจนทำให้เกิดสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค
                คณะผู้วิจัยมองว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเหมาะจะนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจัดจำหน่ายในรูปผงแห้งเพื่อความสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา แต่ยังคงแนะนำให้เกษตรกรฆ่าเชื้อโรคในน้ำนมด้วยความร้อนก่อนการแปรรูปด้วยการหมักหรือจัดจำหน่าย เพื่อลดเชื้อก่อโรคให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้การค้นพบแบคทีเรียที่ดีสายพันธุ์นี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะในแอฟริกา แต่ในทุกพื้นที่ที่มีการบริโภคน้ำนมจากอูฐ   
      

ที่มา : https://www.foodnavigator.com/  สรุปโดย :  มกอช.

Is this article useful?