การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร มีประโยชน์หลายประการ เช่น บันทึกข้อมูลระบุจุดที่มีปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยของอาหารหรือโรคระบาดสัตว์ เพื่อให้สามารถจำกัดและควบคุมความเสียหายได้ทันท่วงที ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการทั่วโลก
อุตสาหกรรมโคนมเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของการเกษตรแคนาดา ได้พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเครือข่ายเกษตรกรโคนม Lactanet ซึ่งได้รับการยอมรับจากองค์การตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency: CFIA) ให้เป็นองค์กรกลางระดับชาติที่รับผิดชอบดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับอุตสาหกรรมโคนม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 องค์การดังกล่าวก็ได้เปิดใช้งานระบบ DairyTrace ซึ่งประกอบไปด้วยฐานข้อมูลที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ การเคลื่อนย้าย และประวัติการจัดการปศุสัตว์แต่ละตัว ร่วมกับป้ายติดหูระบบ RFID ที่ผู้ครอบครองโคนมต้องนำไปใช้ แต่ส่วนของการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือตลาดกลางโคนมส่วนที่ไม่ใช่ผู้ผลิตนั้นสามารถเลือกใช้ระบบ DairyTrace หรือระบบ Canadian Livestock Tracking System (CLTS) ของหน่วยงาน Canadian Cattle Identification Agency (CCIA) ได้
ที่มา : https://www.agcanada.com/ สรุปโดย : มกอช.