ตามการแจ้งเวียนสรุปมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2563 มกอช. เห็นว่า มีบางมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศคู่ค้า คือการที่ญี่ปุ่นจัดทำร่างกฤษฎีกาสำหรับบังคับใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาและการเพิ่มจำนวนผลผลิตทางปศุสัตว์
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) จัดทำร่างกฤษฎีกาสำหรับบังคับใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาและการเพิ่มจำนวนผลผลิตทางปศุสัตว์ (Act on Improvement and Increased Production of Livestock) (ฉบับแก้ไข) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการซื้อขายที่หลอกลวงและการจำหน่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต สำหรับน้ำเชื้อและเอ็มบริโอของโค ม้า และสุกร เพื่อการขยายพันธุ์ โดยสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงการผสมเทียมและการย้ายตัวอ่อน ร่างกฤษฎีกาฉบับนี้ระบุข้อกำหนดสำหรับการติดฉลากบนหลอดบรรจุ (plastic straw) ให้มีข้อความ "การระบุน้ำเชื้อ (Semen) หรือตัวอ่อน (Embryo)" เพื่อใช้ในงานผสมเทียมหรือย้ายตัวอ่อน โดยจะต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้บนหลอดบรรจุ
a) น้ำเชื้อ: ประกอบด้วย 1) ชื่อของผู้ให้น้ำเชื้อ และ 2) วันที่เก็บน้ำเชื้อ
- สามารถใช้หมายเลขประจำตัว (โค) ของน้ำเชื้อแทน 1) ได้ ในกรณีที่ไม่สามารถระบุชื่อของผู้ให้น้ำเชื้อได้
b) ตัวอ่อน: ประกอบด้วย 1) ชื่อหรือหมายเลขประจำตัว (โค) ของผู้ให้น้ำเชื้อและไข่ 2) วันที่เก็บน้ำเชื้อหรือไข่ และ 3) หมายเลขการขึ้นทะเบียนของศูนย์ผสมเทียม
- สามารถใช้หมายเลขใบรับรองตัวอ่อนแทน 1) และ 2) ได้
หมายเหตุ: การแก้ไขนี้จะต้องดำเนินการตามกฤษฎีกาที่ว่า "การระบุน้ำเชื้อและตัวอ่อน" จะต้องระบุสำหรับ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Japanese Black, Japanese Brown, Japanese Shorthorn, Japanese Polled และสายพันธุ์ผสมของ 4 สายพันธุ์นี้ การซื้อขายที่ไม่เหมาะสมสำหรับ "การระบุน้ำเชื้อและตัวอ่อน" จะถูกยับยั้งโดยพระราชบัญญัติการป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของทรัพยากรพันธุกรรมของปศุสัตว์ (Act on Prevention of Unfair Competition on Genetic Resources of Livestock) ประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยเปิดรับข้อคิดเห็นถึงวันที่ 16 กันยายน 2563 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2563 (หมายเลขประกาศ G/TBT/N/JPN/667)
ที่มา : กนร.1 สรุปโดย : มกอช.