กระแสการบริโภคเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากพืชกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วหลาย ๆ แห่ง ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการคือความใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค ที่ทำให้หันมาหาผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้แคลอรีและคอเรสเตอรอลต่ำลง ประกอบกับความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ ซึ่งมีการประเมินว่าการผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้อาหารสัตว์มากถึง 11 กิโลกรัม และน้ำอีก 20 ตัน ทั้งยังก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกอย่างมีเธนจากกระบวนการหมักในทางเดินอาหารของปศุสัตว์อีกด้วย
ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกระแสความตื่นตัวดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้มี ความเคลื่อนไหวที่นำโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นในการจัดตั้งเครือข่ายค้นคว้าวิจัยโปรตีนแห่งโลกอนาคต ดังรายงานข่าว https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=6967 และเริ่มดำเนินการด้านกฎระเบียบควบคุมการผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์และแหล่งโปรตีนทางเลือกแล้ว ดังข่าว https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=7018 ในภาคเอกชนเองก็ได้เริ่มส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืชสู่ท้องตลาดแล้วเช่นกัน หลังความเคลื่อนไหวเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศแถบตะวันตก โดยมีการออกผลิตภัณฑ์แฮมเบอร์เกอร์จากพืชที่ใช้โปรตีนถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก ปรุงรสด้วยสารสกัดเห็ดหอม และปรับเนื้อสัมผัสด้วยบุก
ทั้งนี้มีการประเมินว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 จึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนในอนาคต
ที่มา : https://the-japan-news.com/ สรุปโดย : มกอช.