การแพร่ระบาดของตั๊กแตนในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งขณะนี้ได้มีการระบาดขึ้นในทวีปเอเชียด้วย และล่าสุดในประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ไทยอย่างลาวคงสร้างความกังวลให้แก่เกษตรกรไทยไม่มากก็น้อยว่าจะมีแพร่การระบาดเกิดขึ้นในไทยหรือไม่
ข้อมูลจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร พบว่าตั๊กแตนที่ระบาดในทวีปแอฟริกา แล้วเริ่มระบาดในอินเดีย เนปาล และจีนทางตอนใต้ขณะนี้ คือ “ตั๊กแตนทะเลทราย” (Schistocerca gregaria) ซึ่งตัวเต็มวัยจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล หรือเหลือง โดยตั๊กแตนชนิดนี้สามารถกินทุกส่วนของพืชตั้งแต่ใบจนถึงราก ส่วนตั๊กแตนที่แพร่ระบาดในลาวขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ แต่คาดว่าจะเป็นคนละชนิดกันกับตั๊กแตนทะเลทราย เพราะการแพร่ระบาดของตั๊กแตนในลาวช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่าเป็น “ตั๊กแตนไผ่” (Ceracris kiangsu) ซึ่งที่ผ่านมาสร้างความเสียหายแก่พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด
อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของตั๊กแตนทะเลทรายมายังไทยเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสภาพภูมิอากาศของไทยไม่ได้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ของตั๊กแตนชนิดนี้ โดยทางสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้มีการติดตามการแพร่ระบาดและการเคลื่อนย้ายของตั๊กแตนอย่างใกล้ชิด โดยได้มีมาตรการเฝ้าระวังตั๊กแตนทะเลทรายรองรับไว้ตั้งแต่ต้นปี 2563 เช่นเดียวกับในตั๊กแตนไผ่ ที่แม้จะมีโอกาสการแพร่ระบาดน้อย แต่ได้มีการติดตามและจัดทำมาตรการเฝ้าระวังรองรับไว้แล้วเช่นกัน
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-53237029 สรุปโดย : มกอช.