TH EN
A A A

FSANZ เตือน! บริโภคปลาดิบอาจเสี่ยงปนเปื้อนซาลโมเนลลา

29 May 2563   

                เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) เป็นแบคทีเรียที่สามารถก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาหารเป็นพิษรุนแรง โดยปกติแล้วมักพบความเสี่ยงในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ เช่นไก่ แต่ก็สามารถปนเปื้อนในอาหารกลุ่มอื่น ๆ ได้เช่นกัน และล่าสุดสำนักงานมาตรฐานอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Food Standards Australia New Zealand: FSANZ) ได้ระบุว่าปลาดิบก็มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวเช่นกัน
                สำหรับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่ผ่านมามีการระบุว่าซาลโมเนลลาเป็นความเสี่ยงในสัตว์น้ำเปลือกแข็ง (กุ้งและปู) แต่ไม่มีในสัตว์จำพวกปลา ตลอดจนไม่มีมาตรการควบคุมในลักษณะกฎหมายมาตรฐานอาหารหรือบรรจุในโปรแกรม HACCP ของสถานประกอบการโดยทั่วไป แต่จากรายงานพบว่าซาลโมเนลลาสามารถปนเปื้อนในปลาทั้งตัวหรือเนื้อปลาตัดแต่งได้จากการปนเปื้อนข้ามผ่านอุปกรณ์ แม้ในผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่สุกแล้ว หรือเนื้อปลาแล่สำหรับบริโภคดิบ เช่นซูชิ ซาชิมิ เซบิเช และโปเก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ทาง FSANZ จะเฝ้าติดตามและประเมินความเสี่ยงในกรณีนี้ต่อไป
                ในประเทศไทยมีการบริโภคปลาดิบในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน ผู้ประกอบการด้านอาหารและผู้บริโภคเองก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ ตลอดจนการปนเปื้อนพยาธิหรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ โดยผู้ผลิตก็จะต้องมีการจัดการการผลิตให้ดีเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค รวมทั้งติดตามมาตรการที่อาจประกาศตามมาเพื่อให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ส่วนผู้บริโภคก็ควรตรวจสอบและเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย           

 

 

ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/  สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?