แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงเป็นแผลลึกอยู่ในหมู่ประชาชน ผู้คนมากมายมีรายได้ที่ลดลงและอีกมากที่ต้องออกจากงาน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดจีนลดลงอย่างมาก และประชากรส่วนใหญ่ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือจำเป็นน้อยกว่าส่วนอื่น ๆ รวมไปถึงการซื้อหาผลไม้นำเข้า
ตลาดเจียงหนานแห่งนครกวางโจวคือตลาดค้าส่งผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ที่ช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมามียอดการนำเข้าผลไม้มากขึ้นถึงสิบเท่าตามการเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ผ่านเข้ามาก็สร้างความพลิกผันมหาศาลต่อท้องตลาด ผลไม้นำเข้าหลายชนิดทั้งเชอร์รีจากชิลีหรืออะโวกาโดจากเปรู ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ไม่ว่าชนิดใดจากแหล่งไหนล้วนประสบปัญหายอดขายและราคาตกต่ำทั้งสิ้น ผู้ค้าบางเจ้าขายสินค้าออกได้เพียง 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 5 ของที่เคยขายได้ และในราคาที่ลดลงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่อีกหลายเจ้าขายออกได้ในราคาที่ต่ำกว่าทุน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดทุนอย่างมากในหมู่ผู้ค้า ในด้านผู้บริโภคเองก็ระบุว่าต้องจำกัดการใช้จ่ายมากขึ้น แม้จะตระหนักว่าการบริโภคผลไม้ดีต่อสุขภาพ แต่ก็หันมาบริโภคผลไม้ในประเทศอย่างแอปเปิลหรือสาลี่แทนผลไม้นำเข้าที่แพงกว่า ทั้งนี้รายงานข่าวจากอีกด้านหนึ่งก็พบว่าการส่งออกผักผลไม้ของอินเดียเองก็ลดลงถึง 70% โดยเกิดจากปัจจัยทั้งจากการล็อคดาวน์และการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนค่าขนส่ง
ในส่วนของการส่งออกผลไม้ไทยเองก็อาจได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและส่งออกชาวไทยอาจจำเป็นต้องปรับตัวอีกมากในสภาวะตลาดโลกเช่นนี้ และในฐานะผู้บริโภคชาวไทยเองเราก็ควรสนับสนุนการบริโภคผลไม้ที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่ผ่านกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน สังเกตได้จากตรา Q เป็นต้น
ที่มา : https://www.scmp.com/ สรุปโดย : มกอช.