การบริโภคผักผลไม้สดที่ผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไม่ถูกสุขลักษณะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ซึ่งเป็นเพราะการปลูกในสภาพธรรมชาติทำให้พืชพบกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่นสัตว์ในธรรมชาติ หรือดิน การปลูกพืชในระบบปิดจึงอาจเป็นทางหนึ่งในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น แต่ล่าสุดคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Perdue ของสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการวิจัยและเผยแพร่ผลงานว่าด้วยความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในพืชบริโภคสดที่ปลูกแบบไร้ดินในระบบปิด
ระบบการปลูกแบบไร้ดินที่ใช้ทดลองในงานวิจัยนี้คือระบบไฮโดรโปนิก และระบบอะควาโปนิก ระบบไฮโดรโปนิกอาศัยสารละลายธาตุอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืช ส่วนระบบอะควาโปนิกจะมีการเลี้ยงปลาในสารละลายที่ใช้หล่อเลี้ยงต้นพืชด้วย ทั้งสองระบบทำในเรือนกระจก แล้วคณะผู้วิจัยจึงตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ได้แก่เชื้อ Escherichia coli ที่สร้างสารพิษ Shiga Toxin ได้ (STEC) เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อลิสทีเรีย พบว่าไม่มีเชื้อซาลโมเนลลาและลิสทีเรียในระบบทดลองและบนพืช แต่มีเชื้อ STEC ในทุกระบบการทดลอง โดยพบเชื้อในมูลของปลา จึงคาดการณ์ว่าเป็นแหล่งของเชื้อในระบบอะควาโปนิก ส่วนในระบบไฮโดรโปนิกนั้นคาดว่าเชื้ออาจปนเปื้อนมาระหว่างขั้นตอนการเตรียมแล้วเพิ่มจำนวนขึ้นในสารละลายที่เวียนใช้ ทั้งนี้พบเชื้ออยู่บนรากพืชด้วย แต่เชื้อไม่ได้เข้าไปในต้นพืช และไม่พบเชื้อบนส่วนที่ใช้บริโภค
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการปลูกพืชไร้ดินในระบบปิดก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในผลิตภัณฑ์พืชบริโภคสดได้ และจะต้องมีการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อควบคุมความเสี่ยงดังกล่าว
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.