TH EN
A A A

ภาวะเงินเฟ้อผนวกโควิด-19 สะเทือนภาคเกษตรเลบานอน

23 April 2563   

                ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมผลิตอาหารของเลบานอนตกอยู่ภายใต้ภาวะคุกคาม ทั้งวิกฤติภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สกุลเงินท้องถิ่นสูญเสียค่าเงินไปถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจเกิดการหดตัวและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
                จากการสำรวจพบว่าราคาจำหน่ายอาหารทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องถอนเงินจากสกุลเงินลีร่าแลกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐในตลาดมืดเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตที่นำเข้า ทั้งธนาคารบางแห่งไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการถอนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และยังพบว่าบริษัทที่เคยอนุญาตให้เกษตรกรซื้อวัสดุในการทำการเกษตรแบบสินเชื่อและจ่ายคืนเมื่อมีรายได้หลังการเก็บเกี่ยวกำลังเรียกร้องให้เกษตรกรชำระแบบเงินสด ส่งผลให้มีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในปีนี้เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์
                การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อเก็บข้อมูลการเริ่มชะลอตัวในการเพาะปลูก โดยผู้เชี่ยวชาญจาก American University of Beirut พบว่าฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ทุ่งนาขนาด 5 เอเคอร์ (12.65 ไร่) ณ หุบเขาเบกา มีการเพาะปลูกธัญพืชลดลงถึง 18 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แม้จะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพาะปลูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ
                คาดการณ์ว่าหากโควิด-19 มีการระบาดต่อเนื่อง ผลที่ตามมา คือราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น การส่งสินค้าที่อาจล่าช้า และมีแนวโน้มสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหากไม่สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศได้ ซึ่งศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการเกษตรของเลบานอน (CREAL) ได้ติดตามภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของเลบานอน และคาดว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตทางการเกษตรในปี 2563 ลดลง โดยมูลค่าการผลิตภาคเกษตรอาจจะลดลงถึง 38 % และเฉพาะในส่วนของพืชอาหารอาจลดลงเกือบ 70% เมื่อเทียบกับปี 2561

 

ที่มา : Al Arabiya สรุปโดย : มกอช.

Is this article useful?