เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแนวทางเบื้องต้นเพื่อแนะนำผู้ประกอบการธุรกิจอาหารให้รักษาความปลอดภัยทางอาหารในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับของคณะกรรมาธิการยุโรป
ข้อเสนอแนวทางปฏิบัติของทั้งสององค์กร อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่ายังไม่พบหลักฐานการแพร่กระจายของไวรัสโดยมีอาหารหรือบรรจุภัณฑ์เป็นสื่อ พร้อมระบุให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ HACCP ซึ่งแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานกับอาหารสวมใส่เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม เช่น หน้ากากอนามัย หรือเครื่องป้องกันใบหน้า และถุงมือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการล้างมือให้สะอาด และไม่ควรพิจารณาว่าการสวมถุงมือสามารถทดแทนการล้างมือ เนื่องจากถุงมืออาจจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้
ในส่วนของสถานประกอบการ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการแพร่ระบาดของโรค เช่น การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การลดการติดต่อสัมผัสระหว่างพนักงานในโรงงานกับพนักงานส่งสินค้า ตลอดจนลดการเข้าไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการหากไม่มีความจำเป็น กระจายกำลังผู้ปฏิบัติงาน และให้ทำงานจากบ้านหากทำได้
นอกจาก WHO และคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว เครือข่ายอาหารปลอดภัยแห่งกลุ่มประเทศอาหรับเองก็ได้เผยแพร่คำแนะนำที่สอดคล้องกัน ส่วนในสิงคโปร์เองก็เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสุขาภิบาลอาหาร พร้อมทั้งกำหนดโทษปรับและ/หรือยึดใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ฝ่าฝืน
อ่านคำแนะนำฉบับเต็มขององค์การอนามัยโลกได้ใน https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/331705/WHO-2019-nCoV-Food_Safety-2020.1-eng.pdf และของคณะกรรมาธิการยุโรปใน https://ec.europa.eu/food/sites/food/files/safety/docs/biosafety_crisis_covid19_qandas.pdf
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com/ สรุปโดย : มกอช.