จากอุบัติการที่เพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อ Vibrio และการปนเปื้อนในอาหารทะเล ทำให้ FAO และ WHO กังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ดังที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในอดีต จึงได้จัดให้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดเครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อเชื้ออย่างเหมาะสม และรายงานการประชุมดังกล่าวได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนแล้ว
เชื้อ V. parahaemolyticus เป็นเชื้อที่พบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อจากอาหารทะเลได้เป็นระยะ แต่เริ่มมีรายงานการเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่เคยพบมาก่อนแล้ว ส่วนเชื้อ V. vulnificus เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษอ่อน ๆ ได้ในผู้มีสุขภาพแข็งแรง แต่อันตรายถึงชีวิตได้ในผู้มีโรคประจำตัว จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่มีอัตราการตายสูงสุด V. parahaemolyticus พบได้ในปลาและหอยสองฝาหลายชนิด รวมไปถึงกุ้งและปู โดยอุบัติการณ์ของเชื้อมักสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล จาก 15 เป็น 20 องศาเซลเซียส และแม้ความร้อนในการปรุงจะฆ่าเชื้อได้แต่หอยกรองกินบางชนิด เช่น หอยนางรม ส่วนหนึ่งมักถูกนำไปบริโภคสดหรือผ่านความร้อนแต่น้อย จึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนและได้รับเชื้อกลุ่มนี้ได้ง่าย
ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ณ ปัจจุบันการตรวจเชื้อในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเหมาะสมกว่าตรวจจากน้ำทะเลของแหล่งเพาะเลี้ยง แต่ในอนาคตหากมีการศึกษาเพียงพอจะชี้วัดปัจจัยของน้ำทะเลที่ส่งผลต่ออุบัติการณ์ของเชื้ออย่างแน่ชัดแล้วการเฝ้าระวังจึงจะทำได้ดีขึ้น ส่วนการกำจัดเชื้อหลังจับสัตว์น้ำด้วยวิธีต่าง ๆ ก็มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น ชนิดของสัตว์น้ำ เป็นต้น
อ่านเอกสารรายงานการประชุมฉบับเต็มได้ที่ https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/330867/9789240000186-eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y
ที่มา : https://www.foodsafetynews.com สรุปโดย : มกอช.