ในขณะที่ตลาดส่งออกกุ้งทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งของบังคลาเทศ เผยในปัจจุบันปริมาณการส่งออกกุ้งของบังคลาเทศลดลงถึงร้อยละ 34 หลังสูญเสียตลาดรายใหญ่อย่าง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้ง ตลาดส่งออกกุ้งในแทบเพื่อนประเทศบ้าน ซึ่งในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านของบังคลาเทศได้มีการเปลี่ยนสายพันธุ์กุ้งที่ใช้ในการค้าเป็นกุ้งแวนนาไม เนื่องจากมีราคาถูกและมีปริมาณผลผลิตสูง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของบังคลาเทศได้มีการสั่งห้ามทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งแวนนาไมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้งจำต้องเพาะเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์กุลาดำที่มีราคาแพงกว่า จึงส่งผลกระทบให้ปริมาณการส่งออก และการผลิตกุ้งภายในบังคลาเทศลดลง โดยในปี 2556 – 2557 บังคลาเทศมีปริมาณการส่งออกกุ้งอยู่ที่ 41,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในช่วงปี 2561 – 2562 ที่ผ่านมา บังคลาเทศส่งออกกุ้งลดลงเหลือเพียง 29,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตกุ้งของบังคลาเทศตั้งแต่ปี 2557 ลดลงถึงร้อยละ 28 ในขณะที่ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 – 2562 ปริมาณการส่งออกกุ้งลดลงถึงร้อยละ 4 และมีมูลค่าการค้าลดลงเหลือ 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจาก 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ประกอบการส่งออก และแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ของบังคลาเทศรายหนึ่ง เผยบริษัทได้รับผลกระทบในการผลิต ทำให้การส่งออกกุ้งของบริษัทลดลงจากมูลค่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 เหลือเพียง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา
ที่มา : https://www.undercurrentnews.com/ สรุปโดย : มกอช.