องค์การอาหารและยาสหรัฐ(USFDA) ได้ขึ้นบัญชีผู้ประกอบการส่งออกกุ้งของมาเลเซียส่วนหนึ่งใน “Red List” หลังตรวจพบการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกห้ามใช้ในสินค้ากุ้ง แต่ทางการมาเลเซียชี้ อาจนำเข้ามาจากแหล่งอื่น ไม่ใช่กุ้งจากในประเทศ
ในระหว่างปี 2552 ถึง 2561 สหรัฐมีการขึ้นบัญชี Red List ซึ่งจะถูกกักสินค้าโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบสินค้า(detention without physical examination: DWPE) ผู้ส่งออกกุ้งมาเลเซีย 28 ราย จากการตรวจพบไนโตรฟูราน(nitrofurans) ถึง 58 ครั้ง และในปี 2562 มีการขึ้นบัญชี Red List ผู้ส่งออกกุ้งมาเลเซียอีกกว่า 11 ราย หลังตรวจพบคลอแรมเฟนิคอล(chloramphenicol) ในปี 2561 ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งและถูกห้ามใช้ในสินค้ากุ้งเพื่อการบริโภคในสหรัฐ เนื่องจากคลอแรมเฟนิคอล(chloramphenicol) สามารถทำให้ไขกระดูกไม่ผลิตเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
จากกรณีข้างต้น กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมาเลเซีย ได้ให้ความเห็นว่ากุ้งที่มีการปนเปื้อนนั้นถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศผ่านกระบวนการส่งผ่านสินค้าไปต่างประเทศ(re-export) ไปยังสหรัฐ ไม่ใช่กุ้งที่ผลิตหรือจับได้ในเขตของมาเลเซีย เนื่องจากผู้ผลิตกุ้งที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และมีกระบวนการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ หากตรวจพบวัตถุต้องห้ามจะไม่สามารถส่งออกได้ นอกจากนี้หากมีการตรวจพบยาปฏิชีวนะที่ถูกห้ามใช้ในกุ้ง จะไม่ได้รับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(Certificate of Origin: COO) จากกรมประมง
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการหรือสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชี Red List จะต้องแสดงผลรับรองจากห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าไม่ขัดต่อข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาภายใน 20 วัน หากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก USFDA สินค้าจะต้องถูกทำลาย หรือส่งออกจากสหรัฐภายใน 90 วัน หลังวันที่ถูกกักสินค้า
ที่มา : www.malaymail.com สรุปโดย : มกอช.