TH EN
A A A

USDA เพิ่มระดับการป้องกันอหิวาต์สุกรแอฟริกัน

20 March 2562   
                ในขณะที่การระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันในเอเชียยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มการป้องกันของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน โดยได้มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ผู้ผลิต และหน่วยงานรัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเทศใกล้เคียงเพื่อเดินหน้าป้องกันการการระบาดของเชื้อจากการค้าขายและการเดินทางและการขนส่งข้ามทวีป โดยได้มีมาตรการ 6 ข้อ คือ
     1. การเพิ่มกำลังทีมสุนัขดมกลิ่น ซึ่งได้จัดทีมใหม่เพิ่มขึ้น 60 ทีม รวมทั้งหมดกว่า 179 ทีม ในการตรวจจุดเทียบสินค้าของสหรัฐ ทั้งในสนามบินและในท่าเรือ เพื่อตรวจหาสินค้าลำเลียงที่มีสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ผิดกฎหมาย และเพื่อความมั่นใจว่าผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์สุกรแอฟริกัน จะถูกตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อยืนยันความปลอดภัย
     2. เพิ่มระดับการตรวจสอบและการบังคับใช้สำหรับการจัดการขยะเปียก เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการให้ความร้อนจนถึงจุดที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้
     3. เพิ่มการเฝ้าระวังในส่วนของผู้ผลิต รวมไปถึงความสำคัญของการประเมินตนเองของการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพในการเพาะเลี้ยงของผู้ผลิต
     4. ความถูกต้องของงานวิจัย และวิธีตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ เพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรแอฟริกันในเมล็ดพืช อาหารสัตว์ สารเติมแต่งในอาหารสัตว์ และตัวอย่างสารคัดหลั่งในปากของสุกร
     5. ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์สุกรในอเมริกาเหนือ มีเป้าหมายในการตอบรับและฟื้นฟูการค้า
     6. ความร่วมมือกับผู้นำในการผลิตสุกรในสหรัฐ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับการระบาดของ อหิวาต์สุกรแอฟริกัน
                เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้รักษาอหิวาต์สุกรแอฟริกัน การป้องกันการปนเปื้อนจึงเป็นหนทางเดียวในการป้องกันการระบาดของโรค ซึ่ง USDA และภาคส่วนอื่นที่ให้ความร่วมมือ จะยังคงเดินหน้าหาวิธีรับมือกับโรคอหิวาต์สุกร และโรคติดต่อจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในปศุสัตว์ไม่ให้เข้าสู่สหรัฐ
                โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันทำให้เกิดความสูญเสียกับสุกรในทุกช่วงอายุ แพร่กระจายโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสุกรที่ติดเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านอาหารสัตว์ที่มีการสัมผัสกับตัวที่ติดเชื้อได้ และจากการที่ไม่ส่งผลกระทบในคน ทำให้ไม่เป็นประเด็นในด้านความปลอดภัยอาหาร
 
 
ที่มา : www.thepigsite.com สรุปโดย มกอช.

Is this article useful?