ประธานคณะทำงานเพื่อผลักดันความตกลงความร่วมมือด้านบรรจุภัณฑ์ของสิงคโปร์ (Singapore Packaging Agreement : SPA) ได้กล่าวในที่ประชุม Tokyo Pack 2018 ที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 2 - 5 ตุลาคม 2561 ว่า ด้วยเหตุที่ปริมาณขยะในสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากถึง 7 เท่าในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 1,200 ตันต่อวันในปี 2513 เป็น 8,559 ตันต่อวันในปี 2559 ซึ่งอาจทำให้พื้นที่สำหรับการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบเต็มภายในปี 2578 จึงควรมีแนวทางเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (waste-to-energy plan) เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ มิฉะนั้นจะไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการฝังกลบขยะอีกต่อไป อีกทั้ง SPA ควรเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่ต้นตอของปัญหา
ความตกลง SPA ได้จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (National Environment Agency : NEA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ บริษัทเอกชน และองค์การเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 245 ราย และมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทน 19 คนจากหลายสมาคมอุตสาหกรรม บริษัท องค์การเอกชน และภาครัฐ
ความตกลง SPA รอบที่ 1 มีระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2550 – 2555 และมีผู้เข้าร่วม 139 ราย ซึ่งได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงดังกล่าว โดยได้สามารถลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ลงได้มากถึง 10,000 ตันคิดเป็นมูลค่ามากถึง 22 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี จึงมีผลักดันการดำเนินการความตกลงดังกล่าวรอบที่ 2 ในปี 2555 ซึ่งครั้งแรกมีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงในปี 2558 แต่ได้ขยายเวลาให้สิ้นสุดลงในปี 2563 เนื่องจากผู้เข้าร่วมประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยปัจจุบันได้สามารถลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ลงได้มากถึง 46,000 คิดเป็นมูลค่ามากถึง 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์แล้ว ความตกลงครั้งที่ 2 นี้ มีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมให้ถึง 400 ราย และลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ลงอีกให้ได้ถึง 10,000 ตันต่อปี
ที่มา: www.foodnavigator-asia.com สรุปโดย: มกอช.