ชาวประมงในอเมริกากำลังสูญเสียโควตาประมงจำนวนมากตามข้อตกลงจัดสรรปริมาณการจับสินค้าประมงฉบับใหม่ร่วมกับแคนาดา ว่าด้วยการจับปลาแฮดด็อก (Haddock) ปลาค็อด (Cod) และปลาลิ้นหมา (Flounder) ในบริเวณ Georges Bank ซึ่งเป็นเขตพื้นที่จับปลาที่สำคัญทางตะวันออกของเขตนิวอิงแลนด์ สหรัฐฯ โดยชาวประมงของทั้ง 2 ประเทศมีโควตาในการจับปลาตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝั่งที่ทำไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสำหรับข้อตกลงล่าสุดโควตาการจับปลาสำหรับปี 2562 ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562สามารถแบ่งได้ดังนี้
• ปลาค็อดที่สามารถจับได้ทั้งหมด 415,000 ปอนด์ โดยโควตาที่ชาวประมงฝั่งอเมริกาสามารถจับได้เพียงร้อยละ 29 ของปริมาณที่สามารถจับได้ทั้งหมด (Total Allowable Catch :TAC) และทางฝั่งแคนาดาสามารถจับได้อยู่ที่ร้อยละ 71 ของ TAC
• ปลาแฮดด็อกที่สามารถจับได้ทั้งหมด 33 ล้านปอนด์ ซึ่งแบ่งโควตาฝั่งอเมริกา และฝั่งแคนาดาเท่ากัน
• ปลา Yellowtail flounder ที่สามารถจับได้ทั้งหมดมีปริมาณลดลงถึงครึ่งหนึ่งของปี 2561 เหลือประมาณ 230,000 ปอนด์ ซึ่งทางฝั่งสหรัฐสามารถจับได้ที่ปริมาณร้อยละ 76 ของ TAC ในขณะที่ฝั่งแคนาดามีโควตาจับได้ร้อยละ 24
ทั้งนี้เกณฑ์การแบ่งโควตานั้นน้ำหนักร้อยละ 90 มาจากผลการวิเคราะห์ที่กระจายตัวของทรัพยากรฝูงปลาจากผลสำรวจลากอวน และน้ำหนักอีกร้อยละ 10 มาจากประวัติการจับปลาระหว่าง 2 ประเทศ จึงส่งผลให้โควตาในปีการทำประมง 2561 ที่ผ่านมา (1 พฤษาคม 2561 – 30 เมษายน 2562) ทางอเมริกามีโควตาจับปลาร้อยละ 27 หรือราว 566,588 ปอนด์ และทางฝั่งแคนาดามีโควตาจับปลาร้อยละ 73 หรือราว 1,530,008 ปอนด์ของจำนวน TAC ในขณะที่เมื่อปี 2559 อเมริกา และแคนาดามีโควตาการจับปลาทั้งหมด 1,377,889 ปอนด์ ในขณะทั้ง 2 ประเทศสามารถจับได้จริงอยู่ที่ 1,183,882 ปอนด์ ตามประวัติการจับปลาของทั้ง 2 ประเทศ ค่าเฉลี่ยของปริมาณปลาที่จับได้จริงในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2536 อยู่ที่ 37,919,509 ปอนด์ต่อปี โดยปริมาณที่จับได้สูงสุดของช่วงระยะเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 58,000,000 ปอนด์ ในปีพ.ศ. 2525 หลังจากนั้นปริมาณปลาที่จับได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3,710,379 ปอนด์ ในปีพ.ศ. 2538 กระทั่งปัจจุบันที่มีข้อกำหนดโควตาชัดเจน
ที่มา: NowNews.com สรุปโดย: มกอช.