รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนแถลงจะแก้ไขปัญหาความปลอดภัยอาหารของประเทศ โดยการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอาหารของประเทศให้เท่าเทียมมาตรฐานสากล และผลักดันมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมให้รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การระงับการประกอบกิจการอย่างถาวร (lifelong industry ban) นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นว่า จำเป็นต้องมีการควบคุมตรวจสอบตลอดกระบวนการ พร้อมหนุนสื่อให้ช่วยรายงานการกระทำผิดของผู้ประกอบการอาหาร
จากการที่จีนพบการละเมิดกฎหมายความปลอดภัยอาหารหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมากถึง 500,000 ครั้งเฉพาะในสามไตรมาสแรกของปี 2559 นอกจากนี้ สถิติจากปี 2560 ร้อยละ 90 ของเหตุละเมิดกฎหมายความปลอดภัยอาหารและเครื่องดื่มของทวีปเอเชียนั้นมาจากจีน
ทั้งนี้ การกระทำผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารของจีนที่อื้อฉาวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การปนเปื้อนสารเมลามีน (melamine) ในนมผงเด็กทารกในปี 2551 ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบอุตสาหกรรมนมวัวทั้งประเทศ ในปี 2558 พบการเติมสารโซเดียม ไทโอไซยาเนต ซึ่งเป็นสารกันบูดชนิดหนึ่งในผลิตภัณฑ์นมวัว หรือในปี 2560 พบการสกัดน้ำมันของซากหมูที่กำลังเน่าเปื่อย ที่แนวโน้มจะมาจำหน่ายเป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร นอกจากนี้ ยังพบการผลิต เครื่องเทศ น้ำสต๊อก และซอสปรุงอาหารปลอมจากเครื่องเทศใช้แล้ว น้ำประปา และเกลืออุตสาหกรรม ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง และโลหะหนัก อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
ที่มา: www.navigator-asia.com สรุปโดย: มกอช.