เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงมากถึง 9 ริกเตอร์ในทางทิศตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่ง ในจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) จนได้รับความเสียหายและส่งกัมมันตรังสีแผ่กระจายทั่วพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พืชผลปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เป็นเหตุให้หลายประเทศระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากญี่ปุ่น
ในช่วงแรกนั้น ฮ่องกงระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากญี่ปุ่น เช่น ผัก ผลไม้ นม ฯลฯ ต่อมาได้อนุญาตให้นำเข้าได้โดยต้องมีใบรับรองค่าสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (Iodine-131, I-131) ซีเซียม-134 (Ceasium-134, Cs-134) และ ซีเซียม-137 (Ceasium-137, Cs-137) กำกับว่าไม่เกินค่าที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission, Codex)
แต่ทว่า ขณะนี้หน่วยงานความปลอดภัยอาหารฮ่องกง (Hong Kong Center for Food Safety) ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดให้ตรวจเช็ครังสีไอโอดีน-131 ในผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาที่ธาตุกัมมันตรังสีสลายตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม (half-life) ของไอโอดีน-131 ใช้เวลาเพียง 8 วัน อย่างไรก็ตาม ธาตุกัมมันตรังสีตัวอื่น เช่น ซีเซียม-134 ที่ต้องใช้เวลา 2 ปี และซีเซียม-137 ที่ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี จำเป็นต้องตรวจเช็คค่าของสารเหล่านี้ต่อไป
ที่มา: foodsafetynews.com สรุปโดย: มกอช. (01/05/2561)