จากการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and mouth disease: FMD) ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดราชบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี พิจิตร เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมากเนื่องจากไม่สามารถรีดนมส่งขายได้ ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบในประเทศ มีปริมาณลดลงถึง 20-30% โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เร่งผลักดันเรื่องการทำวัคซีนป้องกันโรค FMD เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมควรมีการติดตามเฝ้าระวังโรคในฟาร์มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและมีการระบาดของโรค ทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กระบือ สุกร แพะ แกะ เป็นต้น และตรวจโรคก่อนนำสัตว์จากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม อนึ่ง หากจำเป็นต้องมีการทำวัคซีนโคนมในฟาร์ม ควรทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยสัตว์ต้องได้รับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะช่วยป้องกันและควบคุมโรคในเบื้องต้นได้