กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) พร้อมจ่ายเงินสงเคราะห์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “ประกันความเสี่ยง-ชดเชยส่วนต่างราคาอ้างอิง”สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2558 ร่วม 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ประกาศความพร้อมในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายหรือส่วนต่างจากราคาอ้างอิงของผลผลิต ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันความเสี่ยงทางการเกษตร (Agriculture Risk Coverage: ARC) หรือโครงการชดเชยส่วนต่างจากราคาอ้างอิงของผลผลิต (Price Loss Coverage: PLC)โดยใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (Safety-Net)ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2559 ครอบคลุมเกษตรกรที่ผลิตพืชอาหารสำคัญ ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี รวมถึงพืชอื่นๆ ทั่วประเทศ สามารถจำแนกได้เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ARC ในลักษณะกลุ่มพื้นที่การผลิต (ARC-County) ร้อยละ 76 กลุ่มเกษตรกรในโครงการ PLC ร้อยละ 23 และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าโครงการ ARC ในลักษณะประกันความเสี่ยงเป็นรายฟาร์ม ร้อยละ 1 โดย USDA คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (250,000 ล้านบาท)
ก่อนหน้านี้เมื่อปี2557 USDA ได้ปรับปรุงกฎหมาย Agricultural Act (Farm Bill) เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวทางจ่ายเงินอุดหนุนภาคเกษตรจากเดิมที่เป็นเงินอุดหนุนการผลิตโดยตรง (Direct Payment) โดยไม่ขึ้นกับสภาวการณ์ของตลาด ให้เป็นการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายหรือส่วนต่างราคาผลผลิต เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี 2545 สหรัฐฯ เคยถูกฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ข้อหาละเมิดกฎการค้าสากลจากการอุดหนุนผู้ผลิตฝ้ายในประเทศ กระทั่งมีคำตัดสินถึงที่สุดเมื่อปี 2548 ให้สหรัฐฯ ชดเชยความเสียหายแก่อุตสาหกรรมฝ้ายของบราซิล และสหรัฐฯ ได้เจรจาจ่ายเงินเพื่อยุติคดีความเป็นจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ให้ Brazil Cotton Instituteเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2557
ข้อมูล: กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) สรุปโดย: มกอช.