ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2559 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้เสนอแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาด้านความเสี่ยงระดับสากล โดยก่อนหน้านี้ OIE ได้ปฏิบัติงานแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ในปี 2558 ที่ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับแก้ข้อกำหนดมาตรฐานเฉพาะระหว่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาแผนปฏิบัติงานในการต่อสู้กับการดื้อยาปฏิชีวนะ
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้น OIE จึงมีกลยุทธ์ใหม่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาประสิทธิผลของการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ การปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์
ทั้งนี้ OIE กล่าวว่า กลยุทธ์ใหม่นี้จะต้องทำให้มีความเหมาะสมเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จ และจากการศึกษาของ OIE พบว่า 110 จาก 130 ประเทศ ขาดกฎหมายที่ครอบคลุมการใช้ยาของสัตวแพทย์ แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรปศุสัตว์อาจสามารถซื้อขายยาปฏิชีวนะได้อย่างอิสระโดยไม่มีผู้ควบคุมดูแล ดังนั้น OIE จึงจะช่วยพัฒนากรอบกฎหมายเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะของประเทศต่างๆ ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหา อบรมด้านสุขภาพของสัตว์ และดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมทั้งสร้างและจัดการฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ เพื่อให้ข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะมีความโปร่งใส
นอกจากนี้ เครื่อข่ายของ OIE จะปฏิบัติงานเพื่อหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ และสารแทนยาปฏิชีวนะในปัจจุบันด้วย
ที่มา: thepoultrysite สรุปโดย: มกอช.