เมื่อเดือนมีนาคม 2559 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ตรวจสอบการระบาดของเชื้อลิสเทอริโอซิส (Listeriosis) ในหลายๆ รัฐของสหรัฐฯ
CDC รายงานว่า ช่วงเดือนกันยายน 2556-มีนาคม 2559 มีผู้ป่วยโรคลิสเทอริโอซิสในช่วงอายุระหว่าง 56-86 ปี ในรัฐแคลิฟอเนีย แมริแลนด์ และวอชิงตัน ซึ่งจากผลการตรวจสอบด้านระบาดวิทยาและหลักฐานจากห้องปฏิบัติการพบว่าผลิตภัณฑ์ผักแช่แข็งของบริษัทแห่งหนึ่งที่ผลิตในเมือง Pasco รัฐวอชิงตัน เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว โดยบริษัทได้เริ่มเรียกเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแล้ว
โดยกระทรวงเกษตรของรัฐโอไฮโอได้สุ่มตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์แช่แข็ง ได้แก่ ข้าวโพดสาลีหวานตัดแช่แข็ง และเมล็ดถั่วลันเตาแช่แข็ง จากบริษัทดังกล่าวมีการปนเปื้อนของเชื้อ Listeria monocytogenes และพบความเชื่อมโยงของผลการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกับดีเอ็นเอของเชื้อในผู้ป่วยซึ่งนำไปสู่การสันนิษฐานว่าการระบาดดังกล่าวอาจเกิดจากการบริโภคผักแช่แข็งของบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น บริษัทจึงเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ผักแช่แข็งจำนวน 11 ชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ที่ผลิตหรือผ่านกระบวนการแปรรูปจากบริษัท โดยเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากมีความกังวลว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Listeria monocytogenes ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคลิสเทอริโอซิส
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2559 FDA ยังพบว่าผลิตภัณฑ์หัวหอมของบริษัทแห่งหนึ่งในเมือง Pasco มีความเชื่อมโยงกับอาการป่วยของโรคระบาดในครั้งนี้ ซึ่งทางบริษัทได้เรียกคืนสินค้าดังกล่าวแล้ว
ที่มา: foodlawlatest สรุปโดย: มกอช.