ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (organic) ถูกจัดเป็นสินค้าในตลาดที่มีความต้องการเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรทางการค้าเพื่อให้สอดคล้องกับมีการเปลี่ยนแปลงกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งแบบแผนการทำเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาการทำเกษตรทั่วโลกได้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การขาดแคลนอาหาร โดยล่าสุดสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Food Agriculture Movement: IFOAM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ได้กำหนดนโยบายการทำงานในปี 2558 เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเข้าถึงตลาดให้ง่ายขึ้นรวมทั้งการเพิ่มความเข้มงวดในการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่จำหน่ายในท้องตลาดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และได้รับการยอมรับในระดับสากลและนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบนิเวศ
สมาคมปฐพีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (Soil Association UK ) ได้รายงานว่าปี2557 ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในUK มียอดขายเพิ่มขึ้น 4 % คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 86,130 ล้านบาท) จากการสนับสนุนของภาครัฐและการฟื้นฟู (reinvigoration) ให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกสามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลดราคาสินค้าและเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ ทำให้มีผู้ค้ารายใหม่เข้าสู่ตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อีกจำนวนกว่า 300 ราย ทั้งในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดย IFOAM ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกลยุทธ์สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งให้กับผู้ผลิตและผู้ค้า รวมทั้งการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาสินค้า การกระจายสินค้าในวงกว้าง การเพิ่มช่องทางการตลาด เป็นต้น
ทั้งนี้ IFOAM ได้จัดทำฐานข้อมูลและรายชื่อของผู้ผลิตและผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก IFOAM ถึงกว่า 60,000 รายชื่อ รวมทั้งรายชื่อผู้ค้าและผู้ผลิตที่กระทำผิด หลอกลวงและไม่น่าเชื่อถือ (fraudulently) เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ที่มา: Foodnavigator สรุปโดย: มกอช.